ภาวะสายตาสั้นเทียมคืออะไร ต่างจากภาวะสายตาสั้นจริงอย่างไร จะมีวิธีการป้องกันและแก้ไขได้อย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
ภาวะสายตาของคนเรามีตั้งแต่สายตาปกติ สายตาผิดปกติ เราจะคุ้นเคยกันตั้งแต่ภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
การที่คนแต่ละคนมีค่าสายตาที่แตกต่างกัน (สั้น ยาว เอียง) เกิดจากกายวิภาค หรือความสมดุลของลูกตา ตั้งแต่ส่วนที่เป็นกระจกตาและเลนส์ตา ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมหรือหักเหแสง และความยาวของลูกตาแต่ละคน
ถ้าภาพหรือแสงที่เข้าสู่ดวงตา มีการหักเห แสงตกบริเวณจอประสาทตาพอดี ก็จะทำให้การมองเห็นภาพชัด โฟกัสดี เรียกว่าคนสายตาปกติ
กรณีแสงมีการหักเหและตกก่อนที่จะถึงบริเวณจอประสาทตาที่เป็นจุดรับภาพ ก็จะทำให้คนนั้นเป็นคนสายตาสั้น
ภาวะสายตาสั้นเทียม เกิดจากสาเหตุใด ?
ปัจจุบัน มีการแบ่งสายตาสั้นจริง กับสายตาสั้นเทียม
ภาวะสายตาสั้นเทียม เกิดขึ้นจากการมองวัตถุระยะใกล้ จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างของลูกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเลนส์ตา ขณะที่เราใช้สายตามองใกล้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง ทำให้เกิดภาวะการเพ่งค้าง
ขณะมองใกล้ เลนส์ตามีการเพ่ง เวลาเหลือบมองไกลเลนส์ตาต้องคลาย แต่ถ้ามีการใช้สายตาต่อเนื่องติดต่อกันหลาย ๆ ชั่วโมง ก็มีโอกาสจะทำให้การคลายการเพ่งเกิดได้ช้ากว่าปกติ
ภาวะสายตาสั้นเทียมพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา เพราะมีความสามารถในการเพ่งค่อนข้างสูงจึงเกิดการเพ่งค้าง แต่ก็พบลักษณะนี้ในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
ในผู้ใหญ่บางคนที่นั่งทำงานระยะใกล้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อเหลือบตามองไปที่ระยะไกล ช่วงจังหวะเปลี่ยนผ่านอาจจะรู้สึกว่าภาพไม่โฟกัส อาจจะต้องใช้เวลา 10 วินาที ค่อย ๆ ปรับโฟกัสใหม่
มีบางคน “การเพ่งค้าง” คงอยู่หลายชั่วโมง ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดเหมือนสายตาสั้น
รู้ได้อย่างไรว่า “การมองเห็นภาพไม่ชัด” เกิดจากสายตาสั้นเทียม หรือสายตาสั้นจริง ?
ถ้าได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์ จะพบว่าภาวะการมองภาพไม่ชัดสามารถแก้ไขได้โดยการให้คลายการเพ่ง ไม่ว่าจะเป็นการหยอดยาลดการเพ่ง หรือหยุดใช้งานมองใกล้ 1-2 วัน ก็จะพบว่าสายตาที่ผิดปกติหรือสั้นหายไป
ในคนที่สายตาสั้นจริง เมื่อตรวจกับจักษุแพทย์ ถึงแม้จะหยอดยาไม่ให้เพ่งแล้วก็ยังพบว่ามีภาวะสายตาสั้นอยู่
ตามกฎหมาย ผู้ที่จะใช้ยาเพื่อพิสูจน์ว่าเด็กสายตาสั้นจริงหรือสายตาสั้นเทียม ก็คือการหยอดยาคลายการเพ่ง จะต้องทำโดยจักษุแพทย์เท่านั้น จึงจะสามารถบอกได้ว่าสายตาสั้นจริง สายตาสั้นเทียม หรือสายตาสั้นจริงเท่าไหร่ และมีสายตาสั้นเทียมเพิ่มเข้ามาเท่าไหร่
การที่เด็กตัดแว่นโดยไม่ได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ อาจส่งผลเสีย เพราะถ้าเด็กได้เบอร์แว่นสายตามากเกินไปจากค่าสายตาสั้นเทียม จะทำให้เด็กต้องเพ่งสายตาสู้กับแว่นที่ใส่ นำไปสู่ความรุนแรงของภาวะสายตาสั้นเทียมมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจกระตุ้นให้ภาวะสายตาสั้นจริงเป็นมากขึ้นได้
วิธีการป้องกันสายตาสั้นเทียม โดยเฉพาะคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา โดยการกำหนดระยะเวลาการใช้สายตา เช่น ทุก 20 นาทีของการใช้สายตามองใกล้ ควรมีการหยุดพักสายตา (อย่างน้อย) 20 วินาที โดยการมองออกไประยะไกล 20 ฟุต เรียกว่าสูตร 20 : 20 : 20 ก็จะสามารถใช้ให้การเพ่งค้างหรือสายตาสั้นเทียมเกิดขึ้นน้อย ไม่เป็นปัญหากับการใช้สายตาของเด็ก
หลายปัญหาของการมองเห็นมีความซับซ้อน ต้องใช้ความชำนาญในการตรวจสอบ จึงควรพบจักษุแพทย์เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ภาวะสายตาสั้นเทียม
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter