กรุงเทพฯ 19 เม.ย.-สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล เรียกร้องรัฐบาลประกาศใช้ไบโอดีเซล
B10
ก่อนราคาปาล์มจะร่วงลงหนักกว่าปัจจุบัน คาดสต๊อกซีพีโอ แตะสูงสุด 560,000 ตันปลายปีนี้
ชี้ส่งออกทำได้ยาก พร้อมร่วมมือปรับโครงสร้างราคาไบโอดีเซลให้เหมาะสมและปรับสเปคการผลิตตามข้อเสนอค่ายรถ
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย แถลงว่า ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำหากรัฐบาลไม่เตรียมแผนรับมือให้พร้อมคาดว่าปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้
เพราะสตอกน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน กว่า 400,000 ตันเป็นกว่า 560,000
ตัน ซึ่งนับเป็นปริมาณสูงสุด ขณะที่ราคาตลาดโลกยังมีปัญหาทั้งจากสตอกที่มีเป็นจำนวนมากการกีดกันการค้าของผู้ซื้อ
คือ อินเดียและยุโรป ขณะที่การส่งออกของไทยก็ไม่พร้อมทั้งคลัง,รถ,เรือ โดยแม้รัฐบาลกำลังพิจารณาอาจจะอุดหนุนส่งออก
1.00-1.50 บาท/ลิตรก็อาจจะไม่คุ้มและแก้ปัญหาได้ยาก ดังนั้น
วิธีการคือควรจะเพิ่มการประกาศใช้น้ำมันไบโอดีเซลในประเทศ จากบี 7 เป็นบี 10 โดยเร็วที่สุด และเป็นการแก้ไขปัญหาถาวร
เพราะจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเหลือได้เกือบทั้งหมด
เนื่องจากการใช้ซีพีโอจะเพิ่มขึ้นอีก 45,000 ตัน/เดือน หรือรวม 540,000-560,000 ตัน/ปี
“การประกาศใช้บี 10 โดยเร็ว จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรและประเทศ
เพราะตลาดโลกสตอกยังล้น ราคาโลกจะยังตกต่ำ ดังนั้น การส่งออกก็อาจจะยากลำบาก
และไม่ช่วยอะไรได้นัก โดยทางสมาคมฯพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา
“นายศาณินทร์ กล่าว
นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC)และนายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า
ภาครัฐจะต้องเป็นตัวกลางในการเจรจากับค่ายรถยนต์ในการยอมรับบี10
และสมาคมไบโอดีเซลก็พร้อมปรับปรุงทั้งในด้านการผลิตตามสเปคของค่ายรถยนต์และพร้อมให้ความร่วมมือ
ในการปรับโครงสร้างราคาจำหน่ายบี 100 ให้เหมาะสม
ผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มบี 10
โดยโครงสร้างราคาของภาครัฐในปัจจุบันราคาบี 100 จะแพงกว่าซีพีโอ ประมาณ 3
บาทต่อลิตร โดยขณะนี้ราคาซีพีโออยู่ที่ประมาณ 19 บาทต่อกิโลกรัม ราคาบี 100
ตามสูตรของรัฐอยู่ที่ประมาณ 22 บาท/ลิตร แต่ราคาบี 100 มีการแข่งขัน
จึงจำหน่ายจริงอยู่ที่ 20 บาท/ลิตร
ซึ่งหากมีการใช้บี 10 ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง
การแข่งขันจำหน่ายเพิ่มขึ้น ราคาจึงไม่สูงขึ้น โดยคาดว่า
ต้นทุนเมื่อเป็นไบโอดีเซลบี10 จะลดลงจากการใช้สูตรอ้างอิงของรัฐ ที่จะเพิ่มขึ้น 20
สตางค์/ลิตรเป็นเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 สตางค์ต่อลิตร
โดยเพื่อนบ้านอาเซียนผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างประเทศอินโดนิเซียได้ประกาศใช้
B20 ตั้งแต่ปี
2559 มาเลเซียมีความพยายามผลักดันการใช้ B10 และมีแนวโน้มว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในอนาคต
ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าการเพิ่มสัดส่วนการผสมเป็น B10
ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ปัจจุบัน พื้นที่เพาะปลูกปาล์มของไทยมีมากกว่า 5 ล้านไร่ และคาดว่า
3-5 ปีจะเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ โดยซีพีโอปี 2560 ของไทยอยู่ที่ 2.63 ล้านตัน
ใช้เพื่อการบริโภค 1.17 ล้านตัน/ปี
และผลิตไบโอดีเซล 0.97 ล้านตัน/ปี โดยการใช้บี 100 ขณะนี้อยู่ที่ 4.2 ล้านลิตร/วัน
มีผู้ประกอบการไบโอดีเซล 13 ราย มีความสามารถในการผลิตไบโอดีเซลรวมทั้งสิ้น 6.6
ล้านลิตร/วัน และจะเพิ่มสูงกว่า 8.0 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2561-สำนักข่าวไทย