กรุงเทพฯ 31 ต.ค. – คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซล หลังปริมาณปาล์มลดลง ราคาพุ่ง ด้านสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ร่วมมือลดส่งออก CPO ด้านห้างฯ ร่วมมือ ตรึงราคาน้ำมันพืช ในขณะที่พาณิชย์เบรกขึ้นราคาน้ำมันถั่วเหลือง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพลังงานว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน สั่งการให้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มและกำลังผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เกษตรกรมีรายได้เพิ่มราคาผลปาล์มขึ้นมาถึงระดับ 9 บาท/กก. แต่ปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณลดต่ำลง กระทบต่อราคาปาล์มเพื่อการบริโภค และส่งผลทำให้ราคาไบโอดีเซลบี 100 ขยับเพิ่มขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ ขยับจาก 42 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 46 บาทต่อลิตร โดยทุก 1 บาทที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อต้นทุนไบโอดีเซลบี 7 ประมาณ 4-5 สตางค์ ดังนั้นก็มีผลต่อต้นทุน บี 7 เพิ่มขึ้น ดังนั้นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงงาน (กบง.) ซึ่งมีนายพีระพันธุ์ เป็นประธานจะประชุมเร็วๆ นี้เพื่อลดสัดส่วนผสมน้ำมันดีเซล ซึ่งอาจจะลดลงจาก บี 7 เป็นบี 5 ก็จะทำให้มีน้ำมันไปใช้เพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สกนช.) กล่าวถึง กบง.ติดตามราคาปาล์มอย่างใกล้ชิด ส่วนรายละเอียดเรื่องราคาปาล์ม ราคาซื้อขายไบโอดีเซล รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการต้องให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้ให้ข้อมูล ซึ่งปัจจุบันน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ถูกใช้ในการผลิตไบโอดีเซลประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ประเทศผลิตได้ทั้งหมด เมื่อราคาผลผลิตปาล์มสูงขึ้นก็จะส่งผลต่อกลไกราคาไบโอดีเซล ซึ่งต่อไปนี้ก็ต้องมีการหารือว่าจะปรับเปลี่ยนกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแลอย่างไร เพราะตามนโยบายของภาครัฐคือตรึงราคาดีเซลบี7 ไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ดังนั้นเมื่อต้นทุนเพิ่ม ก็กระทบต่อการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ ตามไปด้วย โดยล่าสุด (31 ต.ค.)ได้มีการลดการจัดเก็บเงินกองทุนฯจากดีเซลที่เดิมประมาณ 3 บาท/ลิตร เหลือประมาณ 1.72 บาท/ลิตร
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองจะปรับขึ้นราคาจำหน่าย ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ปัจจัยที่กระทบต่อต้นทุนการผลิตน้ำมันถั่วเหลือง ปัจจุบันยังไม่มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบจนเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับขึ้นราคา จึงได้ให้ผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองระงับการปรับขึ้นราคาจำหน่ายไว้ก่อน พร้อมร่วมมือกับห้างค้าส่ง-ปลีก ห้างท้องถิ่น ทั่วประเทศ จัดทำโปรโมชั่น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้บริโภค
สำหรับสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน นายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ถึงแนวทางการบริหารจัดการสตอกน้ำมันปาล์มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งความต้องการบริโภคและการใช้ในภาคพลังงาน โดยสมาคมฯ ได้ให้ความร่วมมืองดการส่งออกน้ำ CPO ในช่วงนี้จนกว่าสถานการณ์ผลผลิตปาล์มจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายใน ได้หารือร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีกและห้างท้องถิ่นถึงสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำมันพืชบรรจุขวด โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดชะลอการปรับราคาออกไปให้นานที่สุด และขอความร่วมมือห้างค้าส่ง/ค้าปลีกจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้อยู่ในระดับราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชน โดยห้างยินดีให้ความร่วมมือในการตรึงราคาน้ำมันพืช พร้อมจัดโปรโมชั่นเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าว แจ้งว่า กรมการค้าภายในให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจของกรมฯ สถานการณ์การจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม ในห้างค้าปลีกค้าส่งพบว่า ราคายังเป็นปกติ และทางห้างยังมีการจัดรายการโปรโมชั่นส่งเสริมการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่ภาคเอกชนระบุน้ำมันปาล์มขยับขึ้นกว่า 10 บาท/ขวดลิตร มาอยู่ที่ขวดละกว่า 50 บาท และราคามันถั่วเหลืองบางรายแจ้งจะขยับราคาในเดือน พ.ย.ราว 1 บาท/ขวดลิตร. – 517,511 สำนักข่าวไทย