กรุงเทพฯ 14 เม.ย.- ศปถ.สรุปสถิติ 3 วัน เกิดอุบัติเหตุ 1,846 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 188 ราย กำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นด่านตรวจ กวดขันรถจักรยานยนต์-รถกระบะเล่นน้ำ คุมเข้มดื่มแล้วขับ-ขับรถเร็ว เน้นอำเภอเสี่ยงอุบัติเหตุสูง
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 13 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 820 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 86 ราย ผู้บาดเจ็บ 852 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 47.56 ขับรถเร็ว ร้อยละ 27.44 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.66 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.51 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.95 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.83 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 29.02 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 18.12 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,029 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,547 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 837,164 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 172,294 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 50,197 ราย ไม่มีใบขับขี่ 45,485 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (35 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (36 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (11-13 เม.ย.61) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,846 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 188 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,934 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (65 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์และเพชรบูรณ์ (8 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (70 คน)
พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า หลายพื้นที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ถนนสายรองที่เชื่อมต่อเส้นทางสายหลักและระหว่างอำเภอมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง ประกอบกับจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่ายังคงมีสาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว ศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครประจำจุดตรวจ เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของด่านชุมชน จุดตรวจ และจุดสกัด พร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบนเส้นทางสายรอง เน้นการกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะดื่มแล้วขับและขับรถเร็วในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ รวมถึงการขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย รถจักรยานยนต์พ่วงที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ และรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ ให้ดูแลความปลอดภัยพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์และเส้นทางโดยรอบพื้นที่จัดโซนนิ่ง และดูแลการเปิด-ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง โดยเข้มงวดกวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลักษณะเร่ขายในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนและการเล่นน้ำไม่ปลอดภัย
นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้จังหวัดและอำเภอเข้มข้นการปฏิบัติงานของด่านชุมชน และจุดสกัดในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน โดยเฉพาะอำเภอที่มีความเสี่ยงอุบัติเหตุสูง (สีแดงและสีส้ม) ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยของพื้นที่จัดงานสงกรานต์และสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงเส้นทางโดยรอบ เน้นป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว โดยกวดขันเป็นพิเศษในช่วงเวลาเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำ นอกจากนี้ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งด้านสถานที่ ช่วงเวลา และช่วงอายุของผู้ซื้อ
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่า ผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 57.45 เป็นคนในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ ถึงร้อยละ 80.85 โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วเกินกำหนด จึงส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ สูงกว่าร้อยละ 57.98 ศปถ.จึงได้กำชับจังหวัดเน้นการกวดขันผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และผู้ขับขี่ที่ขับรถในลักษณะเสี่ยงอันตราย ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำของประชาชน มิให้มีการเล่นน้ำบริเวณจุดเสี่ยงของเส้นทางสายหลักและสายรอง โดยเฉพาะพื้นที่เล่นน้ำให้ควบคุมมิให้มีการเล่นสาดน้ำในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตราย เพื่อให้การเดินทางและการเล่นน้ำเป็นไปด้วยความปลอดภัย. – สำนักข่าวไทย