ญี่ปุ่น 6 มี.ค.-หลังจากมีข่าวการนำเข้าปลาดิบและอาหารทะเลจากเมืองฟูกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความปลอดภัยและมาตรฐาน เพราะเกรงว่าจะเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อย่างไรก็ตาม อย.และกรมประมง ออกมายืนยันความปลอดภัยจากการตรวจสอบสารอาหาร
เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิชิ หมายเลข 1 รั่วไหลจากเหตุสึนามิ เมื่อปี 2554 แม้ผ่านมากว่า 7 ปีแล้ว แต่หลายคนยังหวั่นวิตกถึงผลกระทบจากสารกัมมันตรังสี ทั้งไอโอดีน-131 ที่มีครึ่งชีวิตยาว 8 ชั่วโมง ก่อมะเร็งต่อมไทรอยด์, ซีเซียม-134 และ ซีเซียม-137 ที่มีครึ่งชีวิตยาวนาน 30 ปี ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง ทำให้หลายประเทศทั่วโลกงดและออกมาตรการตรวจสอบหาการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในอาหารทะเลของญี่ปุ่น ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ
จากข้อมูลของ อย.ในการสุ่มตรวจการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารนำเข้า ทั้งปลา ไข่ปลา กู้ง ปู ปลาหมึก สาหร่าย ผักผลไม้ และอาหารแปรรูป ตั้งแต่มีนาคม 2554 จนถึงเมษายน 2559 พบว่าค่อยๆ ลดลง จนในที่สุดตรวจไม่พบสารปนเปื้อน ทำให้ อย.ในปี 2558 ได้ผ่อนปรนมาตรการ ไม่ต้องมีการสำแดงใบนำเข้าที่มาของผลิตภัณฑ์อาหารว่ามีที่มาจากเมืองใดในญี่ปุ่น และเริ่มมีการนำเข้าอาหารทะเลมาตั้งแต่ปี 2559 จึงคาดว่าการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ที่อาจสงสัยว่ามาจากเมืองฟูกุชิมะไม่ใช่ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีความปลอดภัยตามมาตรฐาน เพราะมาตรการที่ถูกยกเลิกนี้ผ่านความเห็นชอบจากนักวิชาการ
การนำเข้าอาหารทะเลเป็นข่าวครึกโครมครั้งนี้ ระบุที่มาวันที่ 2 มีนาคม 2561 น้ำหนักสินค้ารวมประมาณ 130 กิโลกรัม แบ่งเป็นปลาตาเดียว 100 กิโลกรัม ที่เหลือปลาอายุ ปลาซาดีน หอยนางรม และปลาลิ้นหมา โดยจะกระจายไปในร้านอาหารญี่ปุ่นใน กทม. 12 แห่ง เน้นการทำซูชิ และย่างเป็นหลัก ซึ่ง อย.และกรมประมง ยืนยันไม่จำเป็นต้องลงไปตรวจสอบซ้ำในร้านอาหาร เพราะสินค้าเหล่านี้ล้วนมีความปลอดภัย
สำหรับนานาประเทศที่มีการผ่อนปรนมาตรการตรวจสอบอาหารและให้มีการนำเข้าอาหารทะเล จากญี่ปุ่นได้ไม่ได้มีแค่ไทยเท่านั้น ยังมีมาเลเซีย นิวซีแลนด์ แคนนาดา ออสเตรเลียอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย