กรมสรรพากร 6 มี.ค. – กรมสรรพากรเตรียมเสนอคลังเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ ยอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี พร้อมจับมือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เชื่อมโยงงบการเงินอำนวยความสะดวก หวังอันดับความยากง่ายทำธุรกิจไทยดีขึ้น
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า หลังเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการสินค้าผ่านออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ ขณะนี้ได้สรุปร่างกฎหมายเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อเสนอ ครม.ในขั้นต่อไป โดยกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นหากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ค้าออนไลน์มักจะแตกบิลรายการสินค้านำเข้าจากต่างประเทศผ่านออนไลน์ไม่ให้เกิน 1,500 บาทต่อรายการสินค้า เพราะจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สั่งซื้อสินค้านำเข้าจ่ากต่างประเทศต่อครั้งมูลค่า 10,000 บาทต่อการส่งทางไปรษณีย์ 1 ครั้ง ผู้ค้าออนไลน์จะแตกบิลออกเป็น 10 ชิ้น ๆ ละ 1,000 บาท เพื่อไม่ต้องเสียภาษี ร่างกฎหมายใหม่จัดเก็บทั้งหมดแต่ละครั้ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศที่ซื้อขายสินค้าออนไลน์ ยอมรับว่าปัจจุบันการขายสินค้าผ่านออนไลน์เติบโตสูงจากร้อยละ 10 เพิ่มเป็นร้อยละ 17 ในปีนี้ หรือมีผู้ประกอบการสินค้าออนไลน์ประมาณ 300,000 ราย
นายประสงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการจัดเก็บภาษีจากซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล กรมสรรพากรอยู่ระหว่างรอผลประชุมการกำหนดนิยามสกุลเงินดิจิทัลจากหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) หากระบุว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นทรัพย์สินมีมูลค่าและเกิดกำไรจากการลงทุน กรมสรรพากรสามารถประเมินจัดเก็บภาษีได้ตามกฎหมายให้อำนาจเหมือนกับต่างประเทศ หากสรุปออกมาชัดเจนกรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บได้ทันที
ส่วนผลการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีของบุคคลธรรมดาประจำปี 2560 ซึ่งเปิดให้ประชาชนยื่นแบบต้นปีนี้ขณะนี้ยื่นแบบเสียภาษี 3.3 ล้านราย ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยื่นแบบ 4 ล้านราย ส่วนใหญ่รอเอกสารประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษี เพราะปีนี้เริ่มบังคับใช้เป็นปีแรก โดยยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตสัดส่วนร้อยละ 90 ของผู้ยื่นแบบเสียภาษีทั้งหมด ขณะที่การคืนภาษีให้กับผู้ขอเงินคืนทำได้สัดส่วนร้อยละ 90 ของผู้ขอคืนเป็นเงิน 10,000 ล้านบาท จากเป้าหมายคืนเงินภาษีทั้งหมด 40,000 ล้านบาท จากผู้ขอคืนประมาณ 800,000-900,000 ราย หากเอกสารครบถ้วนไม่มีความเสี่ยงต้องขอหลักฐานเพิ่มจะเร่งคืนเงินให้ประมาณ 2-3 วัน
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากรยังลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับนางกลุณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธรุกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในการยื่นงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) โดยไม่ต้องยื่นงบแบบกระดาษ เมื่อยื่นงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว กรมสรรพากรจะดึงข้อมูลงบการเงินใช้ประเมินภาษี โดยไม่ต้องยื่นเอกสารซ้ำซ้อนกับกรมสรรพากร เพียงแต่ยื่นแบบ ภงด.50 ในการคำนวณภาษี โดยการยื่นงบการเงินผ่านออนไลน์มีนิติบุคคล 620,000 รายต้องยื่นงบบัญชีปี 2560 ภายในเดือนพฤษภาคม 2561 เอกชนยื่นงบการเงินผ่านออนไลน์ร้อยละ 80 ในปีนี้ตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการยื่นงบการเงินเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจแล้วจะทำให้การจัดอันดับของประเทศจากธนาคารโลกดีขึ้น. – สำนักข่าวไทย