เพชรบุรี 4 มี.ค.- ผู้ว่าฯ เพชรบุรี เตรียมของบประมาณขยายคันคลองชลประทานระบายน้ำลงทะเล ป้องกันปัญหาน้ำท่วมและของบสร้างไผ่ชะลอคลื่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมให้ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนด้านการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดเพื่อสร้างรายได้
นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงความสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญต่อคนเมืองเพชรบุรี โดยมีความยาวประมาน 210 กิโลเมตร เป็นแหล่งระบบนิเวศที่สำคัญและมีการใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ด้วยเพราะมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการทำเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาน้ำท่วมอยู่จึงต้องเร่งแก้ไข ด้วยการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการขุดลอกคูคลองเพิ่มพื้นที่ให้การผันน้ำลงสู่ทะเลได้คล่องตัวที่สุด พร้อมเตรียมของบประมาณเพื่อขยายคันคลองชลประทานให้กว้างขึ้นรองรับน้ำฝนปริมาณมากด้วย
ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้ฝากให้ประชาชนช่วยกันรักษาแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของชาวเพชร ด้วยการสร้างนิสัยให้เป็นกิจวัตรประจำวันด้วยการไม่ทิ้งขยะ และช่วยกันเก็บผักตบชวาพร้อมขอให้ช่วยกันมีส่วนร่วมกับภาครัฐที่เข้าไปสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ยังกล่าวถึงเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือ ปัญหาน้ำกัดเซาะตามแนวชายฝั่ง ขณะนี้พบว่าชายทะเลของจังหวัดเพชรบุรีกว่า 89 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะเหลือเพียง 41กิโลเมตร โดยเตรียมของบประมาณเพิ่มเติมจาก ครม.เพื่อขยายแนวพื้นที่ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในชายหาดโคลน ระยะทาง 20 กิโลเมตร เพื่อให้มีพื้นที่ของโคลนและปลูกป่าชายเลนเสริมต่อไป ส่วนชายหาดทรายเตรียมทำโครงสร้างหนักตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลต่อไป
“ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พบส่งผลกระทบใน 4 จังหวัดหลัก คือ จ.สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ในส่วนของพื้นที่เพชรบุรีได้รับผลกระทบเกือบครึ่งของพื้นที่ชายฝั่งทั้งจังหวัด โดยทางจังหวัดจะแบ่งการแก้ปัญหาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นที่หาดโคลน จะมีการปักไม้ไผ่ เพื่อชะลอคลื่น ซึ่งจะเน้นในการก่อสร้างเบามากกว่าการก่อสร้างหนัก ขณะที่หาดทรายจะใช้โครงสร้างหนักซึ่งจะขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่” นางฉัตรพร กล่าว
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่านอกจาก 2 เรื่องเร่งด่วนที่เตรียมเสนอของบประมาณจาก ครม.สัญจร ยังมีเรื่องเชิงนโยบายที่จะขอการสนับสนุนจากรัฐบาลคือการขอให้ส่งเสริมภาคการลงทุนด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดและการท่องเที่ยวในชุมชนต่างๆ ซึ่งแต่ละที่มีความพร้อมแต่ยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการประชาสัมพันธ์ เส้นทางสัญจรและการบูรณาการด้านต่างๆ จึงอยากขอการสนับสนุนเพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนแต่ละพื้นที่ด้วยโดยยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนไว้.-สำนักข่าวไทย