ทีดีอาร์ไอ 9 ธ.ค. – ธนาคารโลกเตือนไทยอย่าเร่งกระตุ้นจีดีพีมากเกินไป แม้จีดีพีปี 60 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 เพราะมีความเสี่ยงสูง ขณะที่ทีดีอาร์ไอ คาดเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.2
ในการสัมมนาร่วมระหว่างธนาคารโลกและทีดีอาร์ไอ หัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและประเทศไทยปี 2560” นายชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 เท่ากับปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำอยู่ในอันดับรั้งท้ายของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นรองมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ เห็นว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำ แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ควรเร่งอัตราการเติบโตมากเกินไป ไม่ควรทำให้เศรษฐกิจโตแบบปลอม ๆ เพราะมีความเสี่ยงสูง ซึ่งการจะทำให้จีดีพีโตร้อยละ 5-6 สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง และควรกระตุ้นแบบมีประสิทธิภาพ เช่น การลงทุนโครงการภาครัฐควรลงทุนในโครงการที่ดีเกิดผลประโยชน์ เช่น โครงการด้านการขนส่งที่ควรจะเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค และ ควรปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุนให้คล่องตัวมากขึ้นโดยเฉพาะภาคบริการ แม้ว่าอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของไทย (Doing Business) ดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับ 49 มาอยู่ที่ 46 ของโลก แต่ยังด้อยว่ามาเลเซีย
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 สูงกว่าปีนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 3 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0-1 จากปีนี้ที่ติดลบเล็กน้อย หรือทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศตลาดหลักกลับมาฟื้นตัว นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศจะฟื้นตัว หลังจากปีนี้ถูกผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ราคาข้าวที่ตกต่ำ และภาวะความโศกเศร้าของประชาชน โดยมีการเบิกจ่ายของภาครัฐ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบกลางปี และการลงทุนภาครัฐ เป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะปรับขึ้นกี่ครั้ง โดยจะมีผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเอเชียและตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนในยุโรปที่บางประเทศอาจจะออกจากสหภาพยุโรป ( อียู) เหมือนกับสหราชอาณาจักร รวมทั้งนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่อาจกระทบต่อการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งจะมีผลพวงมาถึงการส่งออกไทยได้ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว ดังนั้น จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ชัดเจนเมื่อไหร่
“การส่งออกและการบริโภคในประเทศจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยปี 2560 เนื่องจากมีน้ำหนักต่อจีดีพีค่อนข้างมาก ขณะที่การลงทุนภาครัฐมีน้ำหนักต่อจีดีพีน้อยกว่าเพียงร้อยละ 5-6 แต่ภาครัฐหากลงทุนได้จริงจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม” นางสาวกิริฎา กล่าว
ส่วนมาตรการท่องเที่ยวช่วยชาติและมาตรการช้อปช่วยชาติ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายช่วงปลายปีให้มีความคึกคักมากขึ้น แต่จะมีผลบวกต่อจีดีพีไม่มาก คือ ไม่ถึงร้อยละ 1 เนื่องจากมูลค่าที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีไม่สูงมาก คือ 15,000-30,000 บาท และสัดส่วนผู้ที่เสียภาษีมีเพียง 4 ล้านคน จากประชากร 67 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นสามารถทำได้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก เช่น การแจกเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่อยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวมากกว่า เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิต เพราะจะสามารถเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย และมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย.- สำนักข่าวไทย