กรุงเทพฯ 10 ม.ค.-ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยมองปี 67-68 ชี้เตรียมรับข่าวดีโอกาสดอกเบี้ยลดลง หลังธนาคารกลางหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะเห็นลดกลางปี 67 นี้ พร้อมมั่นใจเศรษฐกิจไทยเริ่มดีตามท้าทายชะลอตัวเศรษฐกิจโลก แนะเอกชนไทยปรับตัวการผลิตเน้นพลังงานสะอาดและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับตามความต้องการตลาดโลก ชี้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ร้อยละ 3-4 ไม่ถือว่าแย่
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO กล่าวว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 67 ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวลง แต่ไม่ถึงขั้นชะลอตัวรุนแรง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยง เช่น สงครามในตะวันออกกลางหรือสงครามรัสเซียและยูเครนจะกลับมารุนแรงขึ้น แต่ก็ไม่ร้ายแรงแม้จะไม่จบในเวลาที่รวดเร็ว แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ร้ายแรงไปมากกว่านี้ ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจโลกน่าจะกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป รวมไปถึงทศทางของอัตราดอกเบี้ยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้โอกาสที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่กลางปี 67 ไปจนถึงปี 68 เฉลี่ยอย่างน้อยลดลงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1
อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยถือว่าปรับขึ้นไปน้อยกว่าประเทศอื่นๆที่ไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และคาดว่าแนวโน้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสที่จะเห็นลดลงได้ตั้งกลางปี 67 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยรวมไปถึงตลาดเงิน ตลาดทุนและหุ้นกู้ประเภทต่างๆที่จะได้รับต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลง ดังนั้น จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3-4 ถือว่าเป็นการเติบโตตามแรงการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐ การส่งเสริมด้านการลงทุน ทั้งตลาดและตลาดทุนที่หลายประเทศจะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและอื่นๆเป็นต้น
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆโดยเฉพาะโควิดและอื่นๆมาแล้ว 5 ปี ถือว่าปี 67 เป็นปีที่ท้าทาย แม้อัตราดอกเบี้ยของโลกที่สูงขึ้นจนกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่แนวโน้นอัตราดอกเบี้ยลดลงจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงตามแม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะลดลงติดลบติดต่อ 3 เดือนยังไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะเป็นอัตราลดลงจากสาเหตุพลังงานโลกลดลงและมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยจึงไม่น่าจะกังวล แต่สิ่งที่จะต้องติดตาม คือ มาตรการต่อเนื่องของภาครัฐหลังจากนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมาอย่างไร ประกอบกับแม้สินค้าจีนที่มีแนวโน้นเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมน่าจะส่งผลดีต่อไทยในการแข่งขัน ทำให้ผู้ผลิตของไทยจะต้องปรับตัวกับความต้องการสินค้าของโลกที่จะเน้นไปในทางการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า ปิโตรเคมี และท่องเที่ยวจะต้องเน้นสอดกับความต้องการของโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าปีนี้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย น่าจะดีกว่าช่วงที่ผ่านมาๆมา ที่นักลงทุนย้ายการลงทุนไปตลาดอื่นๆมากกว่า 200,000 ล้านบาท หรือการลงทุนในตลาดพันธบัตรก็จะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่จะมากเท่าเดิมหรือไม่ต้องติดตาม แต่ถือเป็นเรื่องปกติของการย้ายการลงทุนของนักลงทุนเพื่อหากำไรต่อการลงทุน ดังนั้น ในปีนี้ผลกำไรของการลงทุนยังถือว่าทรงตัว รวมไปถึงหุ้นกู้ในปีที่ผ่านมาพบเจอหลายบริษัทขาดสภาพคล่องและมีปัญหา ยังมองว่าสถาบันการเงินที่ปลายเงินกู้กลุ่มหุ้นกู้จะต้องมีการติดตามและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นมาได้
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องด้านดูแลสิ่งแวดล้อมหลังจากมีการออก
“กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” (Thailand ESG Fund : Thai ESG) ในช่วงเดือน ธ.ค.66 เพียง 3 สัปดาห์มีประชาชนสนใจซื้อกองทุนนี้กว่า 100,000 รายเป็นเงินกว่า 6,400 ล้านบาท มีผลกำไรมากกว่า 81 ล้านบาท จึงมองว่าโอกาสกองทุนเหล่านี้ยังเติบโตได้อีกมาก และทิศทางการส่งออกของไทยก็เริ่มกลับมาเป็นบวก ท่องเที่ยวไทยต่างชาติสนใจเพิ่มขึ้นคาดว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวจะเข้าไทยมากกว่า 35 ล้านคนที่จะมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 67 ไปจนถึงปี 68 ได้
นอกจากนี้ จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) เดือน ธ.ค.66 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 137.00 ปรับขึ้น 38.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” โดยนักลงทุนมองว่าการไหลเข้าของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และ การไหลออกของเงินทุน
ทั้งนี้ แม้ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มี.ค.67) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับขึ้น 38.9% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 137 ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าของเงินทุน ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ
“ผลสำรวจ ณ เดือนธันวาคม 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 29.4% อยู่ที่ระดับ 119.70 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 16.7% อยู่ที่ระดับ 100.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 17.9% อยู่ที่ระดับ 160.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 50.0% อยู่ที่ระดับ 150.00
SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปัจจัยบวกหลายประการ อาทิ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00% – 5.25% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ อีกทั้งแรงหนุนจากการเปิดขายกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายในเดือนธันวาคม 2566 ค่อนข้างบางเบาเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่วันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาส โดยปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 39,980 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในเดือนธันวาคมประมาณ 70 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิรวมกว่า 192,083 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 SET Index ปิดที่ 1,415.85 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ และ ยุโรป จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดเร็วกว่าคาด และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง ทั้งสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด และผลการเลือกตั้งในไต้หวันในวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่จะเป็นจุดชี้ชะตาสำคัญต่อความเป็นไปได้ในการเกิดการสงครามระหว่างไต้หวัน-จีน ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์จากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 การฟื้นตัวของภาคการส่งออกจากแนวโน้มการค้าโลกที่มีการขยายตัวสูงขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังนักลงทุนจีนเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้.-514-สำนักข่าวไทย