กรุงเทพฯ 26 ก.พ.-ป.ป.ท.ตรวจพบเข้าข่ายทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งเพิ่มอีก 8 จังหวัด รวมเป็น 12 จังหวัด พร้อมตรวจสอบความเชื่อมโยงพฤติการณ์ความผิด และเส้นทางการเงินว่าเกี่ยวข้องเป็นขบวนการหรือไม่
พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ผู้ไร้ที่พึ่งและผู้ป่วยเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ใน 37 จังหวัดเป้าหมายเร่งด่วน ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีการพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการทุจริตรวม 12 จังหวัด
พ.ท.กรทิพย์ กล่าวต่อว่า จังหวัดขอนแก่น และเชียงใหม่ คณะกรรมการของ ป.ป.ท. มีมติอนุมัติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนจังหวัดบึงกาฬและหนองคาย กำลังจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการ ป.ป.ท.เพื่อพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพบการทุจริตเพิ่มอีกใน 8 จังหวัด คือ สระบุรี อุดรธานี สุราษฏร์ธานี พระนครศรีอยุธยา น่าน กระบี่ ตรัง และตราด ซึ่งพนักงานสอบสวนของ ป.ป.ท.อยู่ระหว่างทำรายงานเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการฯ พิจารณา โดยพฤติการณ์การทุจริตที่พบในทุกจังหวัด มีความคล้ายคลึงกัน โดยมีการปลอมลายเซ็นของทั้งผู้มีคุณสมบัติจะได้รับสิทธิ์สงเคราะห์และผู้ไม่มีสิทธิ์ แล้วเบียดบังเงินช่วยเหลือทั้งบางส่วนและทั้งก้อน ซึ่งแต่ละรายเสียหายไม่เท่ากัน จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นรายบุคคลต่อไป
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ที่มีความคล้ายคลึงกันในการทุจริต ซึ่งกำลังตรวจสอบหาความเชื่อมโยงว่ามีการทำเป็นขบวนการหรือไม่ และเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารระดับสูงกว่า ผอ.ศูนย์ฯ หรือไม่ หากพบจะส่งต่อให้ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งขอไม่เปิดเผยรายละเอียดได้ว่ามีใครบ้างเพราะอยู่ในสำนวน
พ.ท.กรทิพย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบในทุกจังหวัด และพยายามให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ที่จะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม ส่วนการย้ายปลัด พม.และรองปลัด พม.ออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เห็นว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ พม.ทุกศูนย์ ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเป็นอย่างดี รวมทั้งมีการส่งเอกสารและหลักฐานต่างๆให้ตามที่ร้องขอมาตลอดอยู่แล้ว
สำหรับขั้นตอนดำเนินการของ ป.ป.ท. หลังจากพบจังหวัดที่มีการทุจริตแล้ว จะสรุปทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือไม่ ถ้ามีมูลจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมา ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะรายงานผลให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาขั้นสุดท้าย หากพบว่ามีมูลความผิดทางอาญาก็จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการส่งฟ้องคดี และหากพบมีข้าราชการผิดวินัยก็จะส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดไปดำเนินการทางวินัยต่อไป.-สำนักข่าวไทย