กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ดอกเบี้ยไทยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นตามสหรัฐ เน้นดูแลเศรษฐในประเทศเป็นหลัก พร้อมเตือนปีนี้ระวังความผันผวนและการปรับฐานที่รุนแรงของตลาดเงิน – หุ้นโลก
สถาบันจัดอันดับเครดิตไทย บริษัท ทริสเรตติ้ ร่วมกับ S&P Global Rating จัดงานสัมมนา “Credit Spotlight On Thailand The link To Continental Southeast Asia” นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาตลาดทุนตลาดเงินทั่วโลกมีการปรับฐานและปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ( Market Correction) หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งความผันผวนที่จะเกิดขึ้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและอาจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมุมมองของตลาดที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ( Mismatch) ดังนั้น นักลงทุนต้องไม่ชะล่าใจ ต้องบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยต้องติดตามผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งหากปรับตัวขึ้นเร็วอาจจะเป็นแรงกดดันทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็วเช่นกัน แต่ในส่วนของประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามต่างประเทศทันที เพราะนโยบายการเงินแต่ละประเทศต้องสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก และอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยที่ยังต่ำ สภาพคล่องในประเทศสูง ถือว่าเพียงพอในการรองรับ หากเงินทุนต่างประเทศจะไหลออกไปบ้าง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานแข็งแกร่งและมีกันชนที่สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี เนื่องจากไทยมีหนี้ต่างประเทศระดับต่ำเพียงร้อยละ 36 ของจีดีพี มีสภาพคล่องเกินดุลสูง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงถึงร้อยละ 10.8 ของจีดีพี เงินสำรองระหว่างประเทศมีสูงกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมด 4 เท่า ขณะที่สถานะของสถาบันการเงินแข็งแกร่ง มีการสำรองหนี้เสียสูง และดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้ดี ส่วนหนี้ของเอกชนไม่ได้สร้างความเปราะบางให้เศรษฐกิจ เพราะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 76.7 ของจีดีพีเท่านั้น ต่ำกว่าหลายประเทศ และ 3 ใน 5 เป็นหนี้ระยะยาว และหนี้สกุลต่างประเทศ เป็นของบริษัทขนาดใหญ่เพื่อกู้ไปลงทุนต่อ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนบางกลุ่มยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แม้สัญญาณเอ็นพีแอลจะดีขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามใกล้ชิด
ด้านการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น หลัง ธปท.ตรวจสอบสถาบันการเงินในประเทศที่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาท พบว่าสถานการณ์ดีขึ้น การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทไม่หนาแน่นเหมือนที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องติดตามปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงิน เพราะสาเหตุที่บาทแข็งค่ามาจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
ส่วนตัวเลขการนำเข้าของไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวสูงเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดุลการค้าขาดดุลติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงแรงส่งของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนว่ามีทิศทางดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างดี เพราะมีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิตมากขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น.- สำนักข่าวไทย