พม.19ก.พ.-ปลัด พม.ขอให้รอผลสอบของคณะกรรมการฯกรณีปัญหาการทุจริตเงินสงเคราะห์ฯ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ห่วงความรู้สึกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ถูกเหมารวมว่าทุจริตทั้งหมด
นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการทุจริตเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)ตรวจพบที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั้งที่ จ.ขอนแก่น เชียงใหม่และบึงกาฬ ว่า การระบุว่าความผิดด้วยการกล่าวลอยๆ คงไม่เหมาะสม ตนไม่ได้ว่าป.ป.ท.แต่การพบหลักฐานเบื้องต้นไม่ได้หมายความว่าทุจริต ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบก่อน พม.เป็นกระทรวงมีชื่อเสียง แต่ขณะนี้กำลังถูกทำลายด้วยเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ในฐานะปลัด พม.ก็ไม่สบายใจ น้องๆที่ทำงานก็ขวัญเสียมาก ไม่อยากให้เหมารวมว่าทุจริตกันทั้งหมด อยากให้ชี้เป็นรายๆไป โฟกัสว่าผิดตรงไหนอย่างไร ซึ่งพม.พร้อมจะดำเนินการอย่างจริงจัง การเหมารวมทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสีย ที่สำคัญเป็นหน่วยงานราชการ ทำให้ความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนหายไป ไม่ใช่เป็นการปกป้องคนทำผิด และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นเบาะแส หรือมีข้อมูลความไม่ชอบมาพากลหรือมีการแอบอ้างใดๆ สามารถแจ้งที่พม.หรือตน หรือผู้ตรวจราชการพม.
นายพุฒิพัฒน์ กล่าวต่อว่า พม.เป็นกระทรวงที่ดูแลพี่น้องและประชาชน ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เป็นการทำลายขวัญประชาชนด้วยซ้ำ จึงอยากให้เรื่องเหล่านี้มีการดำเนินการที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม.ได้เน้นย้ำและวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ที่สอบก็สอบไป ผิดก็ว่ากันไปตามความผิดและเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการมอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการ พม. 6 คนครอบ คลุม 12 เขตทั่วประเทศ มีอำนาจในการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการในเขต ที่รับผิดชอบ รวมถึงมีอำนาจในการพิจารณาความดีความชอบ และการ ลงไปตรวจสอบกรณีที่เกิดการทุจริตหรือเกิดเรื่องร้องเรียนต่างๆ ในเขตที่รับผิดชอบ อีกทั้งมอบหมายให้ลงไปให้ขวัญและกำลังใจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะนี้ขวัญเสียมาก ขณะเดียวกันตนได้ส่งข้อความผ่านทางไลน์ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกคนว่าหากทำถูกต้องชี้แจงได้ก็ไม่ต้องกลัว ขอให้ตั้งมั่นตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ
ต่อข้อถามถึงปัญหาเกิดหลายพื้นที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าเชื่อมโยงส่วนกลางหรือไม่ ปลัด พม.กล่าวว่า ยืนยันเป็นไปไม่ได้ แต่ละคนไปสั่งการได้อย่างไร เพราะหัวหน้าส่วนแต่ละพื้นที่มีอำนาจเต็มในการดำเนินการอยู่แล้ว การสั่งการแบบผิดๆ เช่นนี้ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว การตั้งข้อสังเกตระบุเช่นนั้นถือเป็นการทำลายกระทรวง
ส่วนที่ระบุว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเรื่องให้ พม.ตรวจสอบตั้งแต่มิ.ย.60 นั้น ครั้งนั้นหนังสือที่ สตง.ส่งมาเป็นการให้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินสงคราะห์ให้ดี โดยไม่ได้ระบุพื้นที่ ตอนนั้นได้แต่งตั้งให้ ว่าที่ ร.ต.ศรันย์ สมานพันธุ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองปลัด พม.ไปตรวจสอบ ซึ่งไม่พบความผิดปกติและได้รายงานให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.สมัยนั้นรับทราบแล้ว ถือว่าเรื่องนั้นจบไปแล้ว จึงเป็นคนละส่วนกับเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่ จ.ขอนแก่นซึ่งเป็นเรื่องที่นักศึกษาฝึกงานไปร้องเรียน ยืนยันที่ผ่านมาสมัยตนเป็นอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้ ในแต่เขตพื้นที่มี สตง.เขต มีหน่วยตรวจสอบภายใน ซึ่งมีการตรวจสอบเป็นระยะ
อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าคนเหล่านั้นผิดหรือไม่ ต้องรอผลสรุปจากคณะ กรรมการสอบวินัยเพราะวินัยมีหลายแบบ การระบุใครผิดต้องให้มีหลักฐานชัดเจน เรื่องที่เกิดขึ้น ตนคิดจะเสนอ รมว.พม.ปรับแก้ระเบียบการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ของ พม.ซึ่งมีในทุกกรม เพื่อให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น หรือไม่อาจจะมอบให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อป้องกันระยะยาว โดยส่วนตัวยังคิดไปถึงการยกเลิกการจ่ายเงินสงเคราะห์ แต่ให้ความช่วยเหลือรูปแบบอื่นที่มีคณะกรรมการจากหลายฝ่ายมาช่วยพิจารณา .-สำนักข่าวไทย