กรุงเทพฯ 15 ก.พ.- เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯเข้าตรวจสอบงาช้างของ”นายเปรมชัย กรรณสูต “เตรียมนำผลดีเอ็นเอเทียบของไซเตสพิสูจน์เป็นงาช้างไทยหรือแอฟริกา
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกรณีที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทจะอิตาเลียนไทย ดีเวลอปเม้นต์จำกัด(มหาชน) และพวกอีก 3 คน ที่ร่วมกันบุกรุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และล่าสัตว์โดยใช้อาวุธปืน ในวันนี้เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะทำการตรวจสอบหาดีเอ็นเอ ของงาช้างจำนวน 2 คู่ ที่ยึดได้จากบ้านนายเปรมชัย พร้อมใบยื่นขออนุญาตครอบครองงาช้าง แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วไม่พบสติ๊กเกอร์ที่ปกติแล้วจะต้องติดไว้ที่งาช้างเพื่อเป็นสัญญลักษณ์ว่างาช้างดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุ วันนี้ได้รับการประสานจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ปทส. ให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบว่างาช้างที่ยึดมาเป็นงาช้างเอเชีย หรืองาช้างจากแอฟริกา ซึ่งทางกรมอุทยานฯได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ ซึ่งในส่วนของการตรวจสอบสามารถตรวจสอบได้ด้วยการดูจากภายนอกและการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งหากเป็นงาช้างแอฟริกา จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก แต่หากขนาดไม่ใหญ่ผิดปกติ ก็ต้องมาตรวจสอบดีเอ็นเออีกครั้งว่า เป็นของช้างโซนประเภทใด
ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าทีมนิติวิทยาศาตร์สัตว์ป่า ระบุว่า ในวันนี้จะมีการสกัดเก็บดีเอ็นเอ ที่บริเวณโคนของงาช้าง เพื่อนำกลับไปตรวจสอบภายในห้องแล็ป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ถึงจะสามารถทราบผล ส่วนการตรวจสอบจากสายตาเบื้องต้น จากขนาดของงาทั้งหมด ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นงาช้างสายพันธุ์ไหน ต้องรอผลการตรวจสอบดีเอ็นเอจากห้องแล็ปถึงจะยืนยันได้ ส่วนมูลค่าปกติของงาช้าง จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 4-5 หมื่นบาท ซึ่งงาช้างที่ยึดมาของนายเปรมชัยมีการตกแต่งเคลือบสารให้พร้อมใช้งานแล้ว ทำให้มูลค่าต่อคู่ประมาณ 1 ล้านบาท
ดร.ปิ่นสักก์ ยังระบุอีกว่า ส่วนการขออนุญาตครอบครองงาช้าง ครั้งล่าสุดที่มีการเปิดให้ผู้ที่ครอบครองงาช้างนำงาช้างมาลงทะเบียน เมื่อช่วงปี 2558 ทราบว่ามีผู้นำงาช้างมาลงทะเบียนกว่า 4 หมื่นชิ้น และในจำนวนนี้ทราบว่ามีนายเปรมชัย ทำเรื่องยื่นขออนุญาตมาเช่นกัน แต่เอกสารยังอยู่ขึ้นตอนยื่นใบขออนุญาต โดยมีกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือ กองไซเตส ทำหน้าที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลไว้ ซึ่งจะนำผลดีเอ็นเอที่ตรวจได้จาก 2 คู่นี้ไปเทียบเคียงกับข้อมูลที่กองไซเตสอีกครั้งว่างาช้างดังกล่าวมีที่มาจากที่ไหนและถูกต้องหรือไม่ และหากผลการเทียบเคียงพบว่าเป็นงาช้างแอฟริกา ก็จะเข้าข่ายความผิดตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ ไซเตส แต่ถ้าหากผลเป็นงาช้างเอเชียก็สามารถลงทะเบียนครอบครองได้ แต่นายเปรมชัยต้องแสดงให้ได้ว่างาช้างดังกล่าวได้มาจากที่ใด และมีการลงทะเบียนงาช้างทั้งหมดนี้หรือไม่.-สำนักข่าวไทย