กรุงเทพฯ 11 ก.พ. – จับตาการปรับตัวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุคเทคโนโลยีใหม่พลังงานทดแทนมีบทบาทมากขึ้น (Disruptive Technology) โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ โจทย์ยากที่ กฟผ.ต้องแข่งค่าไฟฟ้ากับเอกชนให้ได้ แต่ต้องซื้อแผง Solar ในประเทศเท่านั้นที่มีราคาแพงกว่าแผงนำเข้าจากต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ปฏิเสธข้อเสนอของ กฟผ.ที่จะขอใช้อำนาจรัฐมนตรีในการยกเว้นระเบียบปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ระบุว่าให้จัดซื้อสินค้าในประเทศเท่านั้น หากสินค้านั้นมีผู้ผลิตมากรายเพียงพอที่แข่งขันได้ โดย กฟผ.ขอยกเว้นเรื่องการจัดซื้อแผงโซลาร์เซลล์ โดยให้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพื่อให้แผงที่ผลิตทั้งในและต่างประเทศแข่งขันด้านราคาระหว่างกัน เนื่องจากแผงในประเทศต้นทุนแพงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 40 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า โดยต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 12-13 บาทต่อวัตต์ หรือมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ขณะที่ในประเทศมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อวัตต์ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าจากแผงในประเทศแพงกว่าการนำเข้าอย่างต่ำร้อยละ 10
ทั้งนี้ รมว.พลังงานพิจารณาแล้วมีแนวคิดว่าควรสนับสนุนผู้ประกอบการแผง solar ในประเทศ โดยให้ กฟผ.ศึกษาวิธีการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. กล่าวว่า โจทย์ดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนในไม่ช้า เพื่อให้สามารถเปิดขายเอกสารประกวดราคา (TOR) โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทั้ง 7 โครงการ รวมประมาณ 32 เมกะวัตต์ ได้ภายในปีนี้ หลังจากที่โครงการล่าช้าไปจากแผนเดิมที่คาดว่าจะขาย TOR ในช่วง ไตรมาส 3-4 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งหาก กฟผ.ลงทุนก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมีเม็ดเงินลงทุนอีก 1,000-2,000 ล้านบาท.- สำนักข่าวไทย