กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2560 ดังนั้น กฟผ.จึงเร่งรัดทุกโครงการ มีการประมูล และไล่ดูว่าโครงการขนาดใหญ่ที่มีหลายสัญญาจะสามารถเริ่มส่วนใดได้เร็วที่สุดและจะเร่งลงนามสัญญาบางส่วนได้ในไตรมาส 1 ปี 2560 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการลงทุนปี 2560 คงไม่สามารถลงทุนได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพาล่าช้ากว่าแผนยังไม่ได้รับอนุมัติแผนการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ดังนั้น ปีหน้าเงินลงทุนส่วนนี้คงไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ เร็ว ๆ นี้จะเสนอ ครม.ขออนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนพระนครใต้ เฟส 1 กำลังผลิตรวม 1,300 เมกะวัตต์ ซึ่งตามเป้าหมายจะก่อสร้างเสร็จปี 2562 และในอนาคตจะขออนุมัตอีก 1 เฟส กำลังผลิต 1,300 เมกะวัตต์เข้าระบบปี 2565 โดยในส่วนนี้นับว่าจำเป็น เพราะความต้องการไฟฟ้าใน กทม.และปริมณฑลมีปริมาณสูงการก่อสร้างสายส่งใหม่ เพื่อส่งไฟฟ้าเข้ามาทำได้ยาก ดังนั้น พื้นที่โรงไฟฟ้าเดิมทั้งพระนครใต้และบางปะกง จึงสามารถรองรับในส่วนนี้ได้ โดยในส่วนของบางปะกงมีแผนจะสร้างอีก 2 เฟสเช่นกันกำลังผลิตเฟสละ 1,400 เมกะวัตต์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนโรงไฟฟ้าทดแทนเฟส 1 ของพระนครใต้และบางปะกงทางบอร์ด กฟผ.อนุมัติผลประกวดราคาไปแล้ว หาก ครม.อนุมัติโครงการจะเดินหน้าก่อสร้างได้ทันที โดยโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนพระนครใต้เฟส 1 ทางกิจการค้าร่วมระหว่างซีเมนส์และมารูเบนิเป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคาก่อสร้าง 18,405 ล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทนเครื่องที่ 1-2 จังหวัดฉะเชิงเทรา กิจการค้าร่วมระหว่างซูมิโตโม, แบล็ค แอนด์ วิชซ์ (ประเทศไทย) และอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 21,882 ล้านบาท โดยจากราคาน้ำมันและเหล็กที่ลดลง ส่งผลค่าจัดซื้อและจ้างก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการนี้รวมกันต่ำกว่าราคากลางที่ประเมินไว้ถึงร้อยละ 31.05 หรือประมาณ 18,142 ล้านบาท
นายกิจจา กล่าวว่า ตามแผนลงทุนของ กฟผ.10 ปีนับจากนี้ (2559-2569) จะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสายส่งอย่างละครึ่ง เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าและความมั่นคงด้านพลังงาน อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างขณะนี้มีหลายปัจจัยที่ไม่แน่ชัดว่าจะทำให้ได้ตามแผนหรือไม่ เช่น เรื่องอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของสายส่งไฟฟ้านอกจากขออนุมัติอีเอชไอเอแล้วยังต้องขออนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพิ่มอีกด้วย โดยโครงการสายส่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เช่น สายส่ง 500KV “จอมบึง-บางสะพาน-สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต”ระยะทาง 800 ก.ม. เงินลงทุน 63,200 ล้านบาท ก่อสร้างปี 2562-2565 โดยโครงการนี้อาจจะแบ่งเป็น 3สัญญา เพื่อให้การก่อสร้างรวดเร็วมากกว่าสัญญาเดียว. – สำนักข่าวไทย