กรุงเทพฯ 8 พ.ย. – อธิบดีกรมอุทยานฯ เผยเหตุผลที่ต้องมีการเสนอตรา พ.ร.ฎ. 2 ฉบับเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ซึ่งต้องตราให้แล้วเสร็จใน 27 พ.ย. นี้ เนื่องจากต้องออกกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ หลังจาก พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามีผลใช้บังคับเมื่อปี 62 ชี้เป็นการรับรองสิทธิให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการลิดรอนสิทธิตามที่กลุ่ม “พีมูฟ” เข้าใจ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวถึงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการออกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. ….โดยร่างพระราชกฤษฎากทั้ง 2 ฉบับจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้พีมูฟขอให้รัฐบาลชี้แจง ผู้แทนรัฐบาลนำโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี หน่วยงานที่เข้าชี้แจงคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายอรรถพลกล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ซึ่งจะทำให้มีการรับรองสิทธิอย่างถูกต้อง เดิมพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ไม่มีบทบัญญัติใดที่อนุญาตให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพียงการผ่อนผันทางนโยบายให้ประชาชนอยู่อาศัยทำหรือทำกินภายใต้มติคณะรัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีหลักที่ใช้คือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่แก้ไขปัญหาประชาชนที่อาศัยหรือทำกินมาก่อนปี 2545 ต่อมารัฐบาลมีคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 วางมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ภายหลังมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 แต่ต้องอยู่อาศัยก่อนปี พ.ศ. 2557 และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เสนอคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามมติ คทช.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 โดยกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ ในกลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งก่อนและหลัง มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 กำหนดให้นำผลการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และผู้ที่อยู่ภายหลังมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 แต่ก่อนปี 2557 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 มาตรวจสอบร่วมกับประชาชน และกำหนดเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ทำกินอันสอดคล้องกับการปรับปรุงกฎหมาย เป็นพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้นำพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลมารับรองให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาพร้อมทั้งให้มีแผนที่กำหนดแนวเขตที่ชัดเจนแนบท้าย โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้วเสร็จได้จำนวนทั้งสิ้น 224 ป่าอนุรักษ์ จำนวน 4,042 หมู่บ้าน ประชาชน จำนวน 314,784 ราย/ครอบครัว 466,307 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 4.257 ล้านไร่
สำหรับความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาให้แล้วเสร็จภายใน 27 พฤศจิกายน 2567 เป็นตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ที่กำหนดไว้ดังนี้
- พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ได้บัญญัติให้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ต้องมีการออกกฎเพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้สิทธิจากกฎหมายได้ หากไม่มีการออกกฎภายในระยะเวลา 2 ปี และบทบัญญัติก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวสิ้นผล แต่ในกรณีที่บทบัญญัตินั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้โดยไม่ต้องมีกฎ โดยระยะเวลา 2 ปี ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกิน 1 ปี รวมเป็น 3 ปี ทั้งนี้สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์ฯ มีผลใช้บังคับให้นับระยะเวลา เมื่อพ้นกำหนดเพิ่มได้อีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี
- พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2562 เป็นวันก่อนพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ มีผลใช้บังคับ ดังนั้นจึงมีระยะเวลาออกกฎให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งทั้ง 2 พระราชบัญญัติดังกล่าวมีระยะเวลาครบกำหนด วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยายระยะเวลาอีก 1 ปี เป็น วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ดังนั้น จึงต้องดำเนินการออกกฎให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ตามที่กฎหมายกำหนด
- กรณีการแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์กำหนดไว้ในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งได้บัญญัติให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ พร้อมแผนที่กำหนดขอบเขตแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาอันเป็นกฎที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์ฯ กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 อนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาฯ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ส่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยืนยันร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งต้องให้แล้วเสร็จ และมีผลใช้บังคับภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
นายอรรถพลกล่าวย้ำถึงประเด็นโต้แย้งของพีมูฟที่ว่า เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยระบุว่า พระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิประชาชนในการอยู่อาศัยหรือทำกิน ในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับบุคคลใดที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ย่อมมีสิทธิในการพิสูจน์สิทธิการครอบครองตามกระบวนการพิสูจน์สิทธิ จึงมิใช่การลิดรอนสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการรับรองสิทธิให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยหรือทำกิน ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับจากการแก้ไขปัญหาตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ประกอบด้วย
- ประชาชนสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และสามารถกระทำการใดๆ ในเขตพื้นที่โครงการตามพระราชกฤษฎีกาฯ โดยไม่ต้องรับโทษ
- หน่วยงานของรัฐ/ส่วนราชการ สามารถเข้าไปพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้ โครงการ เช่น การตัดไม้ยางพาราของบุคคลที่ได้รับสิทธิอยู่อาศัยหรือทำกินภายในพื้นที่โครงการ รวมการตัดไม้ที่ปลูกโดยเฉพาะไม้ผลของเกษตรกรที่ปลูกขึ้นเอง
ในส่วนการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์นั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ตรวจสอบป่าอนุรักษ์ที่ได้เสนอแผนที่แนบท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาฯ 2 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 14 ป่าอนุรักษ์ พบว่า มีป่าอนุรักษ์ 6 แห่งที่อยู่ในท้องที่จังหวัด ที่ผ่านการพิจารณาแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) แล้ว และไม่มีผลกระทบกับแปลงที่ดินของราษฎรที่ได้ดำเนินการสำรวจที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินไว้ก่อนแล้ว ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ส่วนป่าอนุรักษ์ที่เหลืออีก 8 แห่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ยังพิจารณาแนวเขตไม่แล้วเสร็จ
ทั้งนี้หากคณะรัฐมนตรีมีความห่วงใยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะขอถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ดังกล่าวค่อยเสนอเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อไม่ให้พระราชกฤษฎีกาฯ ตกไป โดยเป็นพระราชกฤษฎาฯ แก้ไขเพิ่มเติม แต่ต้องให้พระราชกฤษฎีกาฯ ทั้ง 2 ฉบับแรกผ่านความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ทันภายในกำหนดเวลาที่ได้กล่าวไปแล้ว
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเห็นว่า การปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) จะแล้วเสร็จต้องใช้เวลาหลายปี หากรอจนแล้วเสร็จ ในระหว่างนั้นจะไม่มีกฎหมายใดมารองรับการอยู่อาศัยและทำกินของประชาชน
จะส่งกระทบให้ราษฎรเสียสิทธิในการประกอบอาชีพในแปลงที่ดินที่ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน ในการพัฒนาอาชีพต่างๆ ที่เป็นลักษณะปัจเจกบุคคล ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฯ ทั้ง 2 ฉบับ หากภายหลังมีกฎหมายที่ให้ประโยชน์ต่อประชาชน ก็จะได้มีสิทธินั้นตามกฎหมายนั้นอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า มีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินบริเวณขอบแนวเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งการปรับปรุงแนวเขตฯไม่มีผลใดๆ กับประชาชนกลุ่มนี้ก็จะเสียสิทธิในการประกอบอาชีพนั้นไปด้วย
ส่วนการเสนอพระราชกฤษฎาฯ แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ ก็จะตรวจสอบพื้นที่ให้เป็นไปโครงการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) ก่อนจะนำเสนอในครั้งต่อๆ ไป เพื่อประโยชน์และเป็นธรรมแก่ประชาชน . 512 – สำนักข่าวไทย