กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – ก.พลังงานประกาศชะลอแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ทั้งเทพา-กระบี่ ใช้เวลาศึกษา 3 ปี งัดแผนเสริมลดความเสี่ยงรองรับความต้องการไฟฟ้าโต ด้วยการส่งเสริมสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนใต้ 300 เมกะวัตต์ สร้างสายส่งแก้ปัญหาคอขวด จากโรงไฟฟ้าจะนะ-ขนอม ป้อนพื้นที่อันดามัน
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงว่า กระทรวงตัดสินใจชะลอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ โดยใช้เวลา 3 ปีศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ พร้อม ๆ กับการทำความเข้าใจกับประชาชน อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเติบโตโดยเฉพาะการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันก็จะบริหารจัดการในช่วง 3-5 ปี โดยเพิ่มสายส่งแรงดันสูงเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ คือ จะนะและขนอม ตรงไปยังฝั่งอันดามันและเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางไปยังสถานีสุราษฎร์ธานี จะช่วยแก้ไขปัญหาสายส่งที่มีปัญหาคอขวด ทำให้การใช้กำลังผลิตไม่เต็มที่ รวมทั้งพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 300 เมกะวัตต์ โดยการสร้างสายส่งเชื่อมจากโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาป้อนแก่ภาคใต้ด้านบนนั้น ทางรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนไม่ใช่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนเพื่อไม่เพิ่มเป็นภาระค่าไฟฟ้า ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการขายไฟฟ้า ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์ทั้งการขายเชื้อเพลิง และการจ้างงาน โดยภาครัฐจะดูแลเรื่องความมั่นคงในการก่อสร้างควบคู่กันไป
“ด้วยเวลา 3 ปี เป็นทางเลือกที่จะมีเวลาไม่มีแรงกดดันใช้เวลาศึกษาให้ตกผลึกที่แท้จริง สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพาและศึกษาว่าที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องเป็นเทพาเหมาะสมหรือไม่ ช่วงนี้จึงไม่จำเป็นต้องเร่งรัดตัดสินใจ ซึ่งกระทรวงฯ จะใช้แนวทางอนุรักษ์พลังงานและ โครงการ DR ดีมานด์เรสปอนด์ รณรงค์ให้เอกชนลดใช้ไฟฟ้าด้วยความสมัครใจ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ด้วย” รมว.พลังงาน กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2560 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) อยู่ที่ประมาณ 2,624 เมกะวัตต์ ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.4 ขณะที่กำลังการผลิตอยู่ที่ 2,788 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้ต้องมีสำรองไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ดังนั้น ไฟฟ้าภาคใต้จึงไม่เพียงพอ ในปัจจุบันยังจำเป็นต้องส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางผ่านสายส่งระยะทางกว่า 600 ก.ม. ในอัตราสูงถึงร้อยละ 17 (460 MW) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลานานได้ ซึ่งในปัจจุบันเพื่อความมั่นคง กฟผ.อยู่ระหว่างสร้างสายส่งภาคใต้สายใหม่ 500 เควี แต่เนื่องจากมีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ จึงทำให้การสร้างสายส่งล่าช้าไปจากเดิมก่อสร้างเสร็จปี 2562 เป็นสร้างเสร็จปี 2564
รมว.พลังงาน ยังกล่าวด้วยว่า ด้วยเวลา 3 ปี ประกอบกับเทคโนโลยีไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) มีราคาถูกลง ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าค่าไฟฟ้าจากถ่านหินเมื่อเปรียบเทียบกับแอลเอ็นจีจะมีราคาถูกกว่าเหมือนในอดีต ดังนั้น การศึกษาก็จะเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงก๊าซฯ ด้วย ซึ่งทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เสนอเรื่องการก่อสร้างแบบคลังลอยน้ำ( FSRU ) ส่วน กฟผ.เสนอว่าสร้างแบบสถานีแอลเอ็นจี (TERMINAL) โดยต้องศึกษาความเหมาะสม โดยจะสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน หรือจะขยายโรงไฟฟ้าขนอมหรือจะนะหรือไม่นั้น ก็ต้องศึกษารายละเอียดต่อไป. – สำนักข่าวไทย