กทม.1 ก.พ.- ศาลแพ่ง สั่ง “วัดพระธรรมกาย” คืนเงิน 4 บัญชีกว่า 58 ล้าน และยกคำร้องกรณีที่ อัยการขอริบทรัพย์ตกแผ่นดิน แต่ให้สิทธิ “สหกรณ์ฯคลองจั่น” ร้องขอเงินคืน หลัง อดีตประธานสหกรณ์ฯ ยักยอกอุปถัมภ์ค้ำจุนวัด
ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 1 ก.พ. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาคดี ที่พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาล มีคำสั่งให้เงินในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำกัด (มหาชน) จำนวน 25,597,194.91 บาท , เงินในบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 14,257,934.88 บาท ชื่อบัญชี “วัดพระธรรมกาย” และเงินในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำนวน 1,651,227.42 บาท กับเงินในบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย จำนวน 17,263,081.04 บาท ชื่อบัญชี “มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส” พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
โดยคดีนี้ “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” ในฐานะ ผู้คัดค้านการยึดทรัพย์ที่ 1 ได้ระบุว่า “นายศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีต ปธ.สหกรณ์ฯ สั่งจ่ายเงิน ที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งได้มาจากการรับฝากเงิน สะสมหุ้น และดอกผลจากการประกอบธุรกิจของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย โดย “สหกรณฯ ผู้คัดค้านที่ 1” เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของนายศุภชัย จึงขอให้เงินฝากในบัญชีดังกล่าว ให้ตกกับสหกรณ์ฯ ผู้คัดค้านที่ 1
ส่วน “วัดพระธรรมกาย” และ “มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ” ในฐานะเจ้าของบัญชี เป็นผู้คัดค้านที่ 2-3 ก็ได้คัดค้านทำนองว่า ไม่เคยทราบหรือเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ กับกิจการของ”สหกรณ์ฯ ผู้คัดค้านที่ 1″ ผู้บริจาค
โดย”นายศุภชัย” อดีต ปธ.สหกรณ์ฯ บริจาคให้ “วัดธรรมกาย” ผู้คัดค้านที่ 2 และ “พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย” โดยสมัครใจ เปิดเผย และไม่ทราบว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 รับเงินหรือเช็คจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์โดยสุจริต และนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 และ”มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ” ผู้คัดคัานที่ 3 ใช้ในการกุศลสาธารณประโยชน์และสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์ทางพุทธศาสนาจนหมดสิ้น ส่วนเงินที่เหลือในบัญชีล้วนเป็นของผู้บริจาคอื่น และไม่เคยร่วมกับนายศุภชัยกับพวกโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลประโยชน์หรือกำไรทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเคารพศรัทธาต่อผู้คัดค้านที่ 2-3 จึงบริจาคทรัพย์สินบำรุงส่งเสริมและจรรโลงพุทธศาสนาเงินในบัญชีจึงเป็นเงินบริจาคที่ได้รับมาโดยสุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ทั้งนี้ิ “ศาลแพ่ง” พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า “นายศุภชัย” อดีต ปธ.สหกรณ์ สั่งจ่ายเช็คของสหกรณ์ ฯ ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 27 ฉบับ รวม 1,458,560,000 บาท เป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกัน มีลักษณะเป็นปกติธุระ จึงเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยักยอกที่เกิดขึ้นอันเป็นความผิดมูลฐานและเมื่อมีความผิดมูลฐานเกิดขึ้น พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจ ยื่นคำร้องขอให้เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานตกเป็นของแผ่นดิน
โดย “วัดพระธรรมกาย” และ “มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ” ผู้คัดค้านที่ 2-3 ยังกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการรายงานการทำธุรกรรมเป็นระยะเวลาหลายปีหลายครั้ง ส่อแสดงให้เห็นว่ากระทำเพื่อปกปิดลักษณะที่แท้จริงของแหล่งที่มาของเงิน เชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเกิดขึ้น ประกอบกับ “พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย” อดีตเจ้าอาวาสวัด ได้แต่งตั้ง “นายศุภชัย” อดีต ปธ.สหกรณ์ เป็นไวยาวัจกรของ “วัดพระธรรมกกาย” ผู้คัดค้านที่ 2 ด้วย จึงเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เกี่ยวข้องกับนายศุภชัย และ “มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ” ผู้คัดค้านที่ 3 เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายศุภชัย ผ่านทางพระราชภาวนาวิสุทธิ์ พฤติการณ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอุปถัมภ์ค้ำจุนกันเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างกัน ที่มีมากกว่าเพียงการศรัทธาของบุคคลทั่วไป อีกทั้ง “วัดพระธรรมกาย” และ “มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ” ผู้คัดค้านที่ 2-3 ไม่มีหลักฐานความสำเร็จในการประกอบธุรกิจของ “นายศุภชัย” ที่เป็นรูปธรรมอันจะพิสูจน์ได้ว่า นายศุภชัย บริจาคเงินเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับฐานานุรูป จึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 -3 รับโอนเงินโดยสุจริตและตามสมควรในทางกุศลสาธารณะ
ส่วนที่อ้างว่านำเงินไปใช้ในการกุศลสาธารณะนั้น “ศาลแพ่ง” เห็นว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีทั้งเงินที่ถูกยักยอก เงินที่ใช้ในการฟอกเงิน และเงินบริจาคจากผู้อื่นปะปนระคนกัน ดังนั้นผู้คัดค้านที่ 2 – 3 จะอ้างไม่ได้ เนื่องจากการใช้เงิน ดังกล่าวเป็นผลมาจากความไม่สุจริตตั้งแต่ต้น การก่อสร้างศาสนสถานและสถานปฏิบัติธรรมที่ใหญ่โตทั้งที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เป็นเหตุให้ต้องมีกิจกรรมระดมเงินให้ได้จำนวนมาก เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ต้องการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม ด้วยการไม่ให้สามารถนำเงินและทรัพย์สินดังกล่าวมาใช้สนับสนุนการกระทำผิดอื่นได้อีก
กรณีจึงต้องถือว่าเงิน ที่ยังคงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝาก 4 บัญชี เป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดย “สหกรณ์ฯ คลองจั่น” ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหาย จึงมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้าน ไม่ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ซึ่งเป็นการใช้สิทธิคนละส่วนกับคดี ที่ “สหกรณ์ฯ” ผู้คัดค้านที่ 1 ฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
ศาลแพ่ง จึงมีคำพิพากษาว่า ให้เงินในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำนวน 25,597,194.91 บาท และบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย จำนวน 14,257,934.88 บาท พร้อมดอกผล ในชื่อบัญชี “วัดพระธรรมกกาย” ผู้คัดค้านที่ 2 และบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำนวน 1,651,227.42 บาท กับบัญชี ธ.กรุงไทย จำนวน 17,263,081.04 บาท พร้อมดอกผล ชื่อบัญชี “มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ” ผู้คัดค้านที่ 3 ให้กับ “สหกรณ์ฯคลองจั่น” ผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนคำร้องของอัยการ ผู้ร้องนั้นให้ยกคำร้อง ทั้งนี้ คำพิพากษานี้ เป็นเพียงศาลชั้นต้น ซึ่งคู่ความ สามารถยื่นอุทธรณ์ ได้ภายใน 30 วัน ตามกฎหมาย -สำนักข่าวไทย