เชียงใหม่ 24 ม.ค.-ชาวม้งบนดอยสูงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับกัญชง หรือเฮมพ์ มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ปัจจุบันโครงการหลวงได้เข้าไปส่งเสริมให้ผลิตถูกกฎหมายและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ที่นี่คือหมู่บ้านม้งแม่สาใหม่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งชาวเขาเผ่าม้งที่นี่ผูกพันกับกัญชง เพราะต้องใช้เส้นใยตั้งแต่แรกเกิดจนลาจากโลกไป และตอนนี้ได้มีการส่งเสริมให้ใช้เส้นใหญ่ประดิษฐ์เชิงพาณิชย์มากขึ้น
ผู้แก่แม่เฒ่าชาวม้งหมู่บ้านแม่สาใหม่ มีฝีมือในการทอผ้าใยกัญชงสืบทอดมารุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างหลังเก็บเกี่ยว มาผลิตเส้นใยกัญชงแบบภูมิปัญญาม้ง ที่ทำมือ 15 ขั้นตอน จนได้เส้นใยเหนียว ทนทาน เพื่อนำมาทอเป็นผืนผ้าเนื้อแน่น และเขียนลายขี้ผึ้งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ กว่าจะได้ผ้าแต่ละผืนใช้เวลา 3-4 เดือน เป็นเหตุผลให้ราคาสูงเทียบเท่าผ้าไหม
เสื้อผ้าจากเส้นใยกัญชงถือเป็นของมีคุณค่า สำหรับใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงวันลาจากโลกนี้ไป ความเชื่อของม้งทุกคน ต้องเตรียมชุดใยกัญชงไว้อย่างน้อยคนละชุด หรือมีสัญญลักษณ์สักชิ้นจากใยกัญชง เชื่อว่าตายแล้วได้พบบรรพบุรุษ และแสดงว่าเป็นม้งจริง
กัญชงแม้จะอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่ได้อนุโลมให้ชาวม้งปลูกได้ เพราะไม่มีการเสพ แต่ใช้ประโยชน์จากเส้นใยเป็นหลัก โดยโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว นำกัญชงพันธุ์ดี ปริมาณสารเสพติดต่ำกว่ากฎหมายกำหนด พร้อมเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปมาส่งเสริมให้ชาวม้งที่นี่ 200 ครัวเรือน เพาะปลูกไว้ใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ควบคุมพื้นที่ปลูกบ้านละงานสองงาน เพียงพอใช้ทอผ้าได้ ครอบครัวละ 3-4 ชุด ส่วนที่เหลือนำมาออกแบบผลิตเป็นชิ้นงานหลากหลาย เช่น กระเป๋า รองเท้า รวมตัวเป็นกลุ่มทอผ้าใยกัญชง แยกผลิต รวมขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ปัจจุบัน สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงและโครงการหลวงส่งเสริมให้ชาวเขาเผ่าม้ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และตาก ปลูกและสนับสนุนเทคโนโลยีแปรรูปใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของตันกัญชง เพื่อศึกษาศักยภาพในการส่งเสริมเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ชาวเขา ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเรื่องที่ดินทำกินที่ไม่สามารถขยายได้เพิ่มอีกแล้ว.-สำนักข่าวไทย