กรุงเทพฯ 7
ม.ค. –กฟผ.นับหนึ่ง ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เริ่ม 28
ม.ค.นี้ หากก่อสร้างจะเข้าระบบปี 69 พร้อมเดินหน้าสายส่งไฟฟ้ารับไฟฟ้าจากกัลฟ์
ที่จะทยอยเข้าระบบ 2564-2569
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) แจ้งว่า ในวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2561 ณ
ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เวลา 13.00-17.00
น. กฟผ.
จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
(ค.1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ (ส่วนขยาย ครั้งที่
1) กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ทั้งนี้
นายกรัฐมนตรีสั่งการเมื่อเดือน ก.พ.2560 ให้ กฟผ.ยกเลิกการจัดทำรายงานรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)
ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ของท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งถ่านหินนำเข้า
จนทำให้ กฟผ.ต้องดำเนินการศึกษาใหม่ทั้งหมด โดยในส่วนของ ค.1เริ่มวันที่ 28 ม.ค.61 และจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกในส่วนท่าเทียบเรือ
วันที่ 25 ก.พ.61 โดยเทคโนโลยีที่ใช้
ยังใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้ถ่านหินบด(Pulverized Coal Combustion) รูปแบบเดิมที่เสนอไว้คือ
ระดับ Ultra Supercritical ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง
ทำให้ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินน้อยลง รวมทั้งลดการระบายมลสารและปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2
(ภาพ ..กฟผ.)
“คาดว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นจะเสร็จสิ้นภายในเดือนก.ย.61
หลังจากนั้นจะส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.)
พิจารณาคาดจะใช้เวลา 1 ปีจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ
ครม.ต่อไป หากอนุมัติก่อสร้างคาดจะสามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2569
ซึ่งล่าช้าจากแผนเดิม 7 ปี”แหล่งข่าวจาก กฟผ.ระบุ
สำหรับการประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
ทาง
กฟผ.ได้สอบถามไปยังกลุ่มกิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ
ไชน่า และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล พบว่า
ยังยืนราคาเดิมที่ 2.3 หมื่นล้านบาท จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2561 โดย
กฟผ.จะต้องมีการสอบถามในเรื่องดังกล่าวทุก 1 ปี ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา
2,000 เมกะวัตต์ แม้ คชก.ได้เห็นชอบ EHIA ในส่วนของโรงไฟฟ้าแล้ว
แต่ท่าเทียบเรืออยู่ระหว่างการพิจารณา หากเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานที่วางไว้และ
ครม.เห็นชอบให้ก่อสร้างก็คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2568 ก็จะล่าช้าไปประมาณ 4 ปี
(ภาพ ..กฟผ.)
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน
เคยระบุว่าก่อนหน้านี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างหรือไม่เป็น 1
ในงานหลักที่ต้องเร่งตัดสินใจ ในขณะที่มีผู้คัดค้านและสนับสนุน
ประกอบกับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี คู่แข่งสำคัญของถ่านหิน
มีมากขึ้นและราคาต่ำกว่าในอดีต
แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงาน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างสายส่งเพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP)
ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์ยี ดีเวลลอปเมนท์ ที่ชนะประมูล 5,000 เมกะวัตต์เมื่อปี 2556 เพียงรายเดียว
ว่า ล่าสุด กฟผ.ได้เสนอกระทรวงพลังงานแล้วที่จะลงทุนสร้างสายส่งทั้งหมดวงเงิน 7,250 ล้าน ซึ่งโรงไฟฟ้าไอพีพีของกัลฟ์
ทยอยจ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564-2569 ส่วน ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างสายส่ง จะนำไปคำนวณในต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชน-สำนักข่าวไทย