อิลลินอยส์ 2 ม.ค.- นักวิชาการชาวอิหร่านสายปฏิรูปที่ทำงานอยู่ในสหรัฐวิเคราะห์สาเหตุการประท้วงในอิหร่านที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และเปรียบเทียบกับการประท้วงใหญ่เมื่อหลายปีก่อน
เว็บไซต์อัลจาซีราลงบทวิเคราะห์ของนายอาหมัด ซาดรี อาจารย์ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิทยาเขตเลคฟอเรสต์ในรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐว่า การประท้วงในอิหร่านที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีนำโดยกลุ่มด้อยโอกาสทางสังคมและว่างงานในย่านคนยากจนตามเมืองใหญ่ แตกต่างจากการประท้วงปี 2552 ที่นำโดยกลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเตหะราน แต่ทั้งหมดล้วนเป็นผลจากรัฐธรรมนูญการปฏิวัติอิหร่านเมื่อ 4 ทศวรรษก่อนที่นำระบอบประชาธิปไตยมาปนเปกับระบอบการยึดถือพระเจ้าเป็นหลักอย่างคลุมเครือ
นายซาดรีระบุว่า ขบวนการปฏิวัติอิหร่านไม่ประสบความสำเร็จเพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจทางการเมืองถึงสามในสี่แก่ผู้นำสูงสุด ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ในตำแหน่งอย่างถาวรและมีอำนาจล้นฟ้า เพราะควบคุมกองทัพและนโยบายต่างประเทศ มีสิทธิยับยั้งนโยบายของรัฐบาลและรัฐสภา และมีกองกำลังองค์รักษ์ประจำตัว ขณะที่ประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจตรวจสอบผู้นำสูงสุดแต่อย่างใด
นักวิชาการสายปฏิรูปชี้ว่า การประท้วงเมื่อปี 2552 เกิดจากประชาชนรู้สึกว่าถูกโกงการเลือกตั้งที่นายมาห์มุด อาห์มาดิเนจัด สายอนุรักษ์นิยมได้รับเลือกอีกสมัย ทั้งที่พวกเขาพากันออกมาใช้สิทธิหวังโค่นเขาจากตำแหน่ง เป็นการชุมนุมที่จุดหมายทางการเมืองและถูกปราบปรามอย่างรุนแรง แต่การประท้วงขณะนี้เกิดจากประชาชนผิดหวังรัฐบาลประธานาธิบดีฮัสซัน โรว์ฮานีที่เคยดำเนินนโยบายปฏิรูปในสมัยแรกและแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดี ยอมก้มหัวให้แก่แรงกดดันด้วยการตั้งรัฐบาลอนุรักษ์นิยมในสมัยที่สอง ตามด้วยเรื่องทุจริตอื้อฉาว เรื่องขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อนำเงินไปให้แก่องค์กรทางศาสนา ฟางเส้นสุดท้ายคือการขึ้นราคาไข่ไก่ จนกลายเป็นการประท้วงทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้.-สำนักข่าวไทย