กทม. 21 ธ.ค.-ประเด็นร้อนที่ถกกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแวดวงพระสงฆ์หนีไม่พ้นกรณีกระแสข่าวสั่งห้ามบวชระยะสั้น อาทิ บวชแก้เคล็ด หรือแก้กรรม เพราะหลายฝ่ายมองว่าไม่สอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนา วันนี้เราจะมาตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกในมิติต่างๆ
สำนักข่าวไทยตรวจสอบพบว่าก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง “แนวโน้มวิกฤติพระสงฆ์ศาสนทายาท เนื่องจากการบวชระยะสั้นในสังคมไทย” เป็นงานวิจัยของพระมหากิตติพัฒน์ ศรีนาค โดยพบว่าในช่วงปี 2545-2547 มีชาวพุทธที่บวชระยะสั้น ใช้ระยะเวลาในการบวชประมาณ 7-30 วัน มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้บวชทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า “ในบรรดาผู้มาบวชเรียน 10 คน มีผู้บวชระยะสั้นแล้วสึกถึง 8 คน” ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่าพระภิกษุสามเณรบวชตามประเพณี ร้อยละ 43.5, บวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ร้อยละ 25, บวชเพื่ออุทิศส่วนกุศล ร้อยละ 13, บวชเพื่อสืบทอดพระศาสนา ร้อยละ 7.1, บวชเพื่อดำรงชีวิต ร้อยละ 6.3 และบวชเพราะศรัทธาในพระศาสนา ร้อยละ 5.1
ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนา พบว่าจำนวนพระภิกษุทั่วประเทศในปี 2556 อยู่ที่ 293,879 รูป สามเณร 61,416 รูป ส่วนในปี 2558 มีพระภิกษุ 290,015 รูป และสามเณร 58,418 รูป และในปี 2560 พระภิกษุมีจำนวน 292,592 รูป และสามเณร 59,439 รูป
ขณะที่ข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งเก็บรวบรวมมาในปี 2559 โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่าจังหวัดนครราชสีมา มีพระภิกษุมากสุด จำนวน 16,488 รูป รองลงมาคือ กรุงเทพฯ 13,512 รูป ตามมาด้วยขอนแก่น ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ประมาณ 9,000-10,000 รูป
นอกจากนี้มีงานวิจัยระดับปริญญาเอกพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มจร. ของพระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเขาวัง พระอารามหลวง จังหวัดราชบุรี เรื่อง “กระบวนการพัฒนาศรัทธาและปัญญาของพระนวกะ ด้วยหลักสูตรการอบรมพระนวกะของคณะสงฆ์ไทย” ระบุไว้ว่า เมื่อปี 2555 พบผู้ที่เข้ามาบวชใหม่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค 15 จำนวน 253 รูป
โดยเป็นคนรุ่นใหม่ที่เน้นบวชระยะสั้น ตั้งแต่ 7 วัน ถึง 1 เดือน มากที่สุดร้อยละ 67.2 และมีเพียงร้อยละ 4.7 ที่ต้องการบวชเพื่อศึกษาแก่นแท้พระพุทธศาสนา นอกนั้นจะบวชเพื่อแก้บน, บวชตามประเพณี, บวชก่อนแต่งงาน หรือบวชเพราะเหตุผลอื่นๆ โดยผลกระทบก็จะทำให้พระสงฆ์ขาดคุณภาพ ขาดความรู้เกี่ยวกับหลักธรรม และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขณะที่ก่อนหน้านี้การบวชระยะสั้นคือ 3 เดือน
กระทั่้งในปัจจุบันพบว่าการบวชลักษณะดังกล่าวยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มหาเถรสมาคมจึงร่างหลักสูตรและขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลัก โดยมีคณะทำงาน ประกอบด้วย พระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พระพรหมดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม วัดสามพระยา, พระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดปากน้ำภาษีเจริญ และพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม วัดประยุรวงศาวาส เพื่อดำเนินการร่างหลักสูตร หวังให้พระพุทธศาสนาและพระภิกษุเปี่ยมคุณภาพ.-สำนักข่าวไทย