กรุงเทพฯ 22 พ.ย. – นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ผู้เสียภาษีร้อยละ 72 ไม่ได้ประโยชน์ช้อปช่วยชาติ แนะรัฐใช้การเครดิตภาษีคืน LTF และ RMF ลดเอื้อประโยชน์คนรวย
นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงงานวิจัยถอดรหัสผู้เสียภาษีไทย ใครได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐ ว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ช้อปช่วยชาติ การซื้อกองทุน LTF และ RMF รวมถึงการบริจาคต่าง ๆ คือ กลุ่มคนรวย หรือผู้มีรายได้สูงที่จ่ายภาษีสูงสุด
สำหรับมาตรการช้อปช่วยชาติที่รัฐบาลให้สิทธิ์ประชาชนนำใบกำกับภาษีสินค้าและ บริการไปลดหย่อนภาษี 15,000 บาท นั้น จากการศึกษาพบว่ามีผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีสูงสุดร้อยละ 20 จากมาตรการดังกล่าวมีเพียงแค่ร้อยละ 7 ของผู้ที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีทั้งหมด 11 ล้านคน ส่วนอีกร้อยละ 72 ได้ลดหย่อนภาษีน้อยกว่าร้อยละ 20 หรืออาจจะไม่ได้เลย ดังนั้น ก่อนการซื้อสินค้าช้อปช่วยชาติประชาชนควรจะคำนวนการใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีปีนี้ทั้งหมดก่อน ทั้งกองทุน LTF , RMF และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าสามารถลดภาษีได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่ได้เพิ่มกำลังซื้อใหม่ของประชาชนเป็นดึงกำลังซื้อประชาชนในอนาคตมาใช้
นายอธิภัทร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ภาษีลดลง แต่กลับมีรายจ่ายภาษีสูงถึง 110,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 ของจีดีพี และพบว่าการหักลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับการออมและการลงทุนมีขนาดรวมกันถึง 50,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 45 ของรายจ่ายภาษีทั้งหมด ซึ่งกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มคนรวยหรือผู้มีรายได้สูงที่จ่ายภาษีสูงสุด ซึ่งมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 5 ของผู้เสียภาษีทั้งหมด เนื่องจากได้สิทธิ์หักลดหย่อนตามขั้นบันไดภาษีร้อยละ 35 แตกต่างจากกลุ่มคนชนชั้นกลางจะได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนการซื้อประกันชีวิตและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังนั้น จึงเสนอรัฐบาลปรับรูปแบบการใช้สิทธิ์หักค่าลดหย่อนภาษีใหม่มาเป็นการเครดิตภาษีคืน ในอัตราที่เท่ากัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างกลุ่มคนรวยกับกลุ่มคนชนชั้นกลางและเป็นการกระตุ้นการออมในกลุ่มชนชั้นกลางที่ได้ผลมากกว่า และยังเป็นการช่วยลดต้นทุนรายจ่ายภาษีของรัฐบาลสำหรับกองทุน LTF และ RMF จาก 13,000 ล้านบาท เหลือ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศพัฒนาเเล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาใช้กันอยู่
“ยกตัวอย่างว่ารัฐบาลให้สิทธิ์เครดิตภาษีคืนจากการลงทุน LTF กับ RMF ร้อยละ 15 ประชาชนที่ลงทุนไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ ก็สามารถลดหย่อนได้เท่ากัน เช่น ลงทุน 10,000 บาท ก็สามารถเครดิตคืนได้ 1,500 บาทเท่ากัน“ นายอธิภัทร กล่าว
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลสุ่มจากผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรปี 2555 ประมาณร้อยละ 0.3 ของผู้ที่ยื่นแบบเสียภาษี 11 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 20 พบว่าอัตราภาษีเฉลี่ยที่คนไทยเสียอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ. – สำนักข่าวไทย