สศช. 20 พ.ย. -สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ขยับเป้าหมายทั้งปี เป็น ร้อยละ 3.9 หลังการส่งออกพุ่งสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.3 รวม 9 เดือนแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อปัจจัยบวกดีขึ้นต่อเนื่องหลายด้าน สศช.จึงขยับเพิ่มเป้าหมายจากจีดีพีทั้งปี จากเดิมคาดการณ์เป็นช่วงร้อยละ 3.5-4 หรือค่ากลางร้อยละ 3.7 เพิ่มเป็นร้อยละ 3.9 นับว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจดีขึ้นเทียบหลายไตรมาสที่ผ่านมา จากไตรมาส 1 ปี 2556 นับว่าฟื้นตัวครอบคลุมทุกด้าน สำหรับปัจจัยบวกมาจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามเกณฑ์ร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เพราะยอดจำหน่าย รถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 10.9 รวมทั้งการใช้จ่ายด้านต่างๆดีต่อเนื่อง
ด้านการลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.4 โดยภาคเอกชนขยายยตัวร้อยละ 2.9 จากผลการลงทุนในกลุ่มเครื่องมือเครื่องจักร ส่วนภาคก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.1 ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.6 และอาจเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ส่วนด้านการส่งออกสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส มูลค่า 61,633 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่ากระจายตัวทั้งจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกเติบโตตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาล ช้ินส่วนยานยนต์
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในรอบ 18 ไตรมาส หรือในรอบ 4 ปีครึ่งขยายตัวร้อยละ 4.3 นับเป็นการขยายตัวชัดเจน ส่วนภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 9.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 16.1 เพราะปัญหาราคาข้าวเปลือก ปาล์มนำ้มัน ข้าวโพดปรับลดลง เมื่อภาคการท่องเที่ยวสาขาโรงแรมและภัตราคารขยายตัวร้อยละ 6.7 รายรับรวม 6.93 แสนล้านบาท ผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มียอดการใช้จ่าย 4.53 แสนล้านบาท จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และสหรัฐ ทั้งปีคาดว่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 8.6
สำหรับแนวโน้มจีดีพีในปี 61 ขยายตัวร้อยละ 3.6-4.6 ค่ากลางร้อยละ 4.1 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การลงทุนโดยรวมคาดว่าขยายตัวร้อยละ 5.5 จากการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 11.8 ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง การเร่ิมก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การส่งออกขยายตัวร้อยละ 5 เพราะในปี 60 ฐานตัวเลขเร่ิมสูงขึ้น ความเชื่อมั่นของของนักลงทุนจากเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อเตรียวตัวไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมพ นับว่ามุมมองจากองค์กรระหว่างประเทศเริ่มดีขึ้น โดยคาดการณ์ว่า จีดีพีของไทยในช่วง 5 ปี ข้างหน้า GDP จากร้อยละ 2 เพิ่มเป็นร้อยละ 3 รัฐบาลยังต้องดูแลรายย่อยให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และการพัฒนากลุ่มเอสเอ็มอีมให้เข้มแข็ง
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อน ใกล้เคียงกับที่นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรอบล่าสุด แต่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประมาณการรอบเดือนกันยายนที่ให้ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากแรงขับเคลื่อนของด้านอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ
ในระยะต่อไป คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการกระจายตัวของกำลังซื้อในประเทศ – สำนักข่าวไทย