กรุงเทพฯ 17 เม.ย. – ธปท.ประเมิน Tariff กระทบส่งออกไทยครึ่งปีหลัง 5 อุตฯ “อิเล็กทรอนิกส์ -เครื่องใช้ไฟฟ้า -เครื่องจักร -ยานยนต์และชิ้นส่วน -เกษตรแปรรูป” ยอมรับ GDP ปี 68 ต่ำกว่า 2.5% จับตาเงินบาทผันผวน ยังไม่ฟันประชุม กนง. 30 เม.ย.นี้ ลดดอกเบี้ย-ปรับกรอบเงินเฟ้อ
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กล่าวในงาน Media Briefing: วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทย ว่านโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย สถานการณ์คาดว่าจะยืดเยื้อ โดยผลกระทบจะส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง และใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน โดยในระยะสั้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินผ่าน 5 ช่องทางหลัก ดังนี้
- ตลาดการเงิน: ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกและไทยผันผวนมากขึ้น โดยรวมสภาพคล่องและกลไกการทำธุรกรรม ยังเป็นไปตามปกติ ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากช่วงก่อนวันที่ 2 เมษายน เล็กน้อยสอดคล้องกับภูมิภาค ตามค่าเงิน USD ที่อ่อนเร็วจากความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นปรับลดลงสอดคล้องกับภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่เห็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ขณะที่ภาวะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้โดยรวมยังเป็นปกติ โดยต้องติดตามผลจากภาวะการเงินต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก tariff อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี
- การลงทุน เกิดชะลอออกไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก อย่าง อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์ ซึ่งเริ่มเห็นผลดังกล่าวบ้างแล้ว จากการหารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าว มีบางส่วนรอความชัดเจนเพื่อตัดสินใจการลงทุนใหม่จากแผนเดิมที่วางไว้ ในระยะต่อไป หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย
- การส่งออก : คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป และน่าจะเห็นการเร่งส่งออกในไตรมาส 2 โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมด และคิดเป็น 2.2% ของ GDP โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ใน supply chain ของโลก ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย เช่น ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ คิดเป็นประมาณ 4.3% ของการส่งออกไทย
- การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น: สินค้าไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง และหันมาส่งออกไปยังตลาดเดียวกับไทย รวมถึงส่งมายังไทย โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่มีอยู่เดิม
- เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง: การส่งออกโดยรวมและรายรับการท่องเที่ยวอาจถูกกระทบจากเศรษกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าและเงินเฟ้อของไทยชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทาน
ธปท. ประเมินว่า ผลกระทบต่อภาคการส่งออก คาดว่าจะเริ่มเห็นผลช่วงครึ่งหลังของปี และจะเห็นผลชัดเจนปี 2569 แต่จะไม่กระทบรุนแรงกับภาคการส่งออกโดยรวม เมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด และจับตาโอกาสที่อาจเกิดผลกระทบ ในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของสินค้านำเข้า โดยจะติดตามข้อมูลด้านการค้า, การผลิตและการจ้างงาน, ภาวะการเงิน และการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน รวมทั้งดูแลความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงกว่าปกติในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง

ทั้งนี้ นโยบายการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างถาวร ทำให้ต้องเร่งปรับตัว โดยในระยะสั้น นอกจากการเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ไทยควรมีมาตรการรับมือ ทั้งการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ และป้องกันการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านไทย เช่น กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าและความคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ การเร่งรัดกระบวนการไต่สวน ข้อพิพาทกับต่างประเทศ การเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่สาม เป็นต้น
ส่วนในระยะยาว ไทยควรขยายตลาดและเสริมสร้าง supply chain โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาค และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้แข่งขันในห่วงโซ่อุปทานของโลกได้
นายสักกะภพ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ามาตรกการ tariff จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2568 ไม่ถึง 2.5% ตามที่ ธปท. เคยประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.) ครั้งที่ผ่านมา
ส่วนการประชุม กนง. ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากการณ์ยังไม่แน่ชัด แต่จะนำปัจจัยต่างๆมาประกอบการพิจารณา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงตามอุปทาน ทั้งน้ำมัน และไฟฟ้า ซึ่ง ธปท.หารือกับกระทรวงการคลังถึงกรอบเงินเฟ้อระยะปานกลางมาโดยตลอด คาดว่าจะมีความชัดเจนในการประชุม กนง. ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เช่นกัน ส่วนค่าเงินบาท ยอมรับว่าผันผวน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการเคลื่อนไหวผิดปกติ ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด.-516-สำนักข่าวไทย