กรุงเทพฯ 18 พ.ย.-ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เตือนประเทศไทยตอนบนเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศแปรปรวน ส่วนภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้เฝ้าระวัง รับมือภาวะฝนตกหนัก
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม – 18 พฤศจิกายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 79 อำเภอ 482 ตำบล 2,825 หมู่บ้าน 38 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 126,390 ครัวเรือน 327,420 คน ผู้เสียชีวิต 28 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ขอนแก่น และมหาสารคาม รวม 20 อำเภอ 165 ตำบล 1,010 หมู่บ้าน 54,672 ครัวเรือน 150,481 คน อพยพ 40 ครัวเรือน ซึ่ง ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ทั้งเต็นท์ที่พัก รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังสู่ลำน้ำสายหลัก อีกทั้งเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิต ทรัพย์สินจากการประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์
นายชยพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางและประเทศกัมพูชา ในช่วงวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2560 จะส่งผลให้ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ และจะแผ่ปกคลุมภาคเหนือและภาคกลางตอนบนในระยะต่อไป ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก จากนั้นอากาศจะเย็นลงและมีลมแรง ขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับฝนตกสะสมในพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง คลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากสภาพอากาศแปรปรวนและภาวะฝนตกหนัก
“โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป” นายชยพล กล่าว.-สำนักข่าวไทย