นครสวรรค์ 17 พ.ย.-เกษตรกรใน อ.พระนอน จ.นครสวรรค์ ยึดอาชีพเลี้ยงปลากราย และรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาบ้านหัวดง ต่อยอดเพิ่มมูลค่า ด้วยการแปรรูปทำลูกชิ้น และทอดมันปลากราย
“สมบูรณ์ สังข์เหม” เกษตรกรใน ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้กับบึงบระเพ็ดแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครสวรรค์ จึงยึดอาชีพเลี้ยงปลาเป็นอาชีพหลัก เริ่มจากเลี้ยงปลาหลายชนิดหลายพันธุ์ เช่น ปลาช่อน ปลาสวาย ปลาชะโด ปลาแรด แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยง จนมาลงตัวกับการเพาะเลี้ยงปลากราย จึงยึดเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน
บ่อขนาด 1 ไร่ เลี้ยงปลากรายได้ 10,000 ตัว ถ้าใส่มากกว่านี้ปลาจะแออัดเกินไป ทำให้โตช้า ส่วนระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 2 เมตรครึ่ง ใช้อาหารเม็ดเลี้ยงเพียงอย่างเดียว โดยในช่วง 3 เดือนแรกใช้อาหารเม็ดเบอร์ 1 จากนั้นอีก 3 เดือน เปลี่ยนเป็นเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ตามลำดับ ข้อสำคัญของการเลี้ยงปลากราย สมบูรณ์ บอกว่า ต้องหมั่นสังเกตน้ำในบ่อ ถ้าเริ่มส่งกลิ่นหรือน้ำเปลี่ยนสี ต้องมีการถ่ายน้ำ อย่างน้อยหนึ่งหรือ 2 ครั้งในช่วงระหว่างการเลี้ยง
เมื่อปลากรายอายุครบ 10 เดือน โตพร้อมจับขาย มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อกันถึงในบ่อ กิโลกรัมละ 65-70 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา สร้างรายได้ปีละหลายแสนบาท
เกษตรกรใน ต.พระนอน ส่วนใหญ่ยึดอาชีพเลี้ยงปลากรายเป็นอาชีพหลัก และยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงให้ จ.นครสวรรค์ จึงมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาบ้านหัวดง มีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปทำลูกชิ้น และทอดมันปลากราย ส่งขายกิโลกรัมละ 250 บาท ถือเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย