กรุงลิมา ประเทศเปรู 16 พ.ย.- นายกรัฐมนตรี หารือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น พร้อมแลกเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนสองประเทศ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง ณ โรงแรม เดลฟิเนส โฮเทล แอนคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างการหารือ ว่า เมื่อได้มารับหน้าที่นายกรัฐมนตรี จึงเห็นความผันผวนในภูมิภาคทำให้มีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เพื่อสันติสุขและความก้าวหน้า ซึ่งหลักการตามข้อริเริ่มปรับโลกของจีนเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลตรงกับหลักการของไทย และตอบโจทย์ความท้าทายในขณะนี้ ฉะนั้นขอยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อความรุ่งเรืองและสงบสุขของภูมิภาคและโลก โดยจะส่งเสริมโลกาภิวัตน์ ความเชื่อมโยงการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและครอบคลุม รวมทั้งระบบ ตลาดเสรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบของเอเปคที่ไทยให้จีนเป็นเจ้าภาพในการประชุมเอเปคปี 2026 และความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้าถือเป็นปีทองของไทย-จีน ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ และวางแผนอนาคตไทย-จีน
นายกรัฐมนตรี กล่าวชี่นชมหลักการความก้าวหน้าของจีนและนโยบายกำลังผลิตคุณภาพใหม่ หรือ new quality productive force ด้วยการเน้นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ประสิทธิภาพสูง และคุณภาพสูง สอดคล้องกับหลักการพัฒนาของไทย มุ่งส่งเสริมโลกาภิวัฒน์ การค้าเสรีที่เปิดกว้าง ยึดมั่นในกติการโลก ซึ่งไทยสนไจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การแก้ปัญหาความยากจน รวมไปถึงนโยบายของจีนในการเผชิญความท้าทายของการเปลี่ยนสภาพภูมิภาคอากาศ การผลิตคุณภาพใหม่รวมทั้งเทคโนโลยีอวกาศ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต พลังงานสะอาด และรถยนต์ EV และไทยยังพร้อมที่จะร่วมมือจีน ภายใต้แนวคิดข้อริเริ่มความศิวิไลซ์โลก หรือ Global Civilization Initiative (GCI) โดยส่งเสริม soft power เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวขอบคุณจีนที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยไทยเข้าเป็นสมาชิก BRICS (บริกส์) หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในทุกระดับทั้ง การประชุม กรอบความร่วมมือเอเชีย ( ACD ) , การประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) รวมทั้งความร่วมมือสาขาใหม่ๆ ระหว่างกัน เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยินดีที่มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย ขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน และความร่วมมือด้านการศึกษา เยาวชน และการเชื่อมโยงระหว่างภาคประชาชน รวมทั้งการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามแดน และภัยออนไลน์ ต่างๆ ด้วย.-315 -สำนักข่าวไทย