ดีเอสไอ 10 พ.ย.-โฆษกดีเอสไอ มองต่างจากรัฐบาล แนวคิดปฏิรูปดีเอสไอ อาจมีผลกระทบกับประสิทธิภาพองค์กรในระยะยาว เผย 14 ปีที่ผ่านมา ดีเอสไอสอบสวนคดีเกือบ 2 พันคดี ปกป้องผลประโยชน์รัฐ ได้มากกว่า 3.5 แสนล้านบาท
จากกรณีที่วานนี้ (10 พ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์เปิดเผยถึงหนังสือตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุให้มีการปรับปรุง ปฏิรูป กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ว่า เป็นช่องโหว่นกมีหูหนูมีปีกที่ไม่มีใครหยิบมาปฏิรูปซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากย้ำให้ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของดีเอสไอให้มีประสิทธิภาพที่เข้มข้นเป็นที่น่าเชื่อถือมีเกียรติและศักดิ์ศรี และให้ดำเนินการเฉพาะคดีพิเศษเท่านั้น และหากตำรวจที่ทำงานอยู่ดีเอสไอต้องการย้ายกลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมจะสนับสนุนโดยการเทียบยศให้ตามเหมาะสม ส่วนตำแหน่งที่ว่างลง จะมีการรับบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถ หรือผลิตบุคลากรน้ำดีขึ้นมาทำหน้าที่
เรื่องนี้ พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะโฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
การปรับเปลี่ยนองค์กรจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของดีเอสไอในอนาคต เพราะต้องนึกจุดประสงค์แรกที่ตั้งกรมขึ้นมาเพื่อให้บริการประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งดีเอสไอก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 และมีกฎหมายพิเศษในปี 2547มีการโอนย้ายบุคลากรโดยเฉพาะตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญมาถึง 200 คนเนื่องจากเป็นหน่วยตั้งใหม่ต้องใช้ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานมาช่วยด้านสืบสวนและสอบสวน รวมทั้งมีการโอนย้ายบุคคลการจากหน่วยงานอื่น ทั้งกรมสรรพากร ศุลกากร
มหาดไทย และหน่วยงานในสังกัดข้าราชการพลเรือน ปัจจุบันมีอัตราข้าราชการประมาณ 1,000 คน และพนักงานราชการอีก 300 คน
ส่วนที่มองว่ามีการโอนย้ายตำรวจเข้ามาจำนวนมากนั้น ปัจจุบันเหลืออดีตตำรวจเพียง 118 คน ซึ่งในอีกประมาณ 5 ปี ข้างหน้าจะเหลือพนักงานสอบสวนสัดส่วนที่เป็นตำรวจ ร้อยละ 1-2 เท่านั้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาดีเอสไอมีการปรับโครงสร้างหลายครั้ง ล่าสุดปรับจาก 10 สำนักคดี มาเป็น 18 กองคดีเพื่อรับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวนตามภารกิจที่กำหนดไว้ตามกฎหมายแนบท้ายตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ โดย 14 ปีที่ผ่านมา สามารถปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ได้มากกว่า 350,000 ล้านบาท รวมทั้งในการปรับอโครงสร้างดีเอสไอที่ผ่านมา มีแนวคิดที่จะควบรวมสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของดีเอสไอเพื่อยกระดับการรวบรวมหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ และการตรวจพิสูจน์ เนื่องจากแนวโน้มในอนาคตการสอบสวนจำเป็นต้องใช้การตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาเป็นหลักฐานสำคัญในคดี
ส่วนประเด็นที่กังวลว่าการทำงานของดีเอสไอ จะซ้ำซ้อนกับตำรวจ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันคดีที่ดีเอสไอรับไว้ทำการสอบสวนจะเป็นคดีตามกฎหมายแนบท้ายเกือบทั้งหมด ส่วนงานคดีที่ซ้ำซ้ำซ้อนกับการทำงานของตำรวจ ดีเอสไอไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจเอง ทุกคดีล้วนต้องผ่านมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น โดยต้องมีมติ 2ใน 3 ให้ดีเอสไอรับไว้สอบสวนเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมและการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบันดีเอสไอรับสอบสวนคดีทั้งหมด 1,973 คดี
จำนวนนี้เป็นคดีอาชญากรรมเศรษฐกิจ 716 คดี คดีเทคโนโลยีและสารสนเทศและทรัพย์สินทางปัญญา 782 คดี คดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม 342 คดี และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ 388 คดีและขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกว่า 200 เรื่อง.-สำนักข่าวไทย