แพทย์ชี้หยุดวิ่งกะทันหัน เสี่ยงอันตราย
หลังจากที่มีกระแสดราม่าที่มีประชาชนวิ่งเข้าไปหาและขอถ่ายรูปเซลฟี่กับ “ตูน
บอดี้สแลม” อาทิวราห์ คงมาลัย ระหว่างทางที่วิ่งในโครงการ ”ก้าวคนละก้าว
เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” ว่าอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับ
”ตูน” ได้
เนื่องจากจะต้องหยุดวิ่งแบบกะทันหัน วันนี้ทีมข่าว NewMedia ได้สอบถามความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพและการกีฬามาฝาก
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า
การวิ่งเข้าไปเพื่อขอถ่ายรูปเซลฟี่กับ “ตูน บอดี้สแลม” ที่กำลังวิ่งอยู่นั้น
ไม่ถือว่าเป็นอันตรายมาก เพราะการวิ่งของ ”ตูน” เป็นการวิ่งแบบมาราธอน
ที่วิ่งมาด้วยความเร็วคงที่ ไม่ได้วิ่งด้วยความเร็วมากจนเกินไป
ซึ่งการวิ่งในลักษณะนี้ผู้วิ่งจะต้องมีการเตรียมพร้อมของร่างกายมาเป็นอย่างดี ต้องมีการสะสมพลังงานให้เพียงพอ ตามหลักวิชาการแล้ว
การหยุดวิ่งแบบทันทีมีความเสี่ยงให้เกิดอันตรายได้
ซึ่งร่างกายเปรียบเหมือนเครื่องจักรที่ต้องมีการหยุดพัก หยุดซ่อมแซม
เพราะการวิ่งระยะทางไกลที่ต้องใช้เวลาหลายวันแบบนี้ มีโอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นบาดเจ็บได้ จึงควรที่จะต้องมีการหยุดพักเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมบ้าง
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาการกีฬา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร กมุทศรี
อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โดยหลักการ ขณะที่คนเรากำลังวิ่งอยู่นั้น ร่างกายและระบบต่างๆ เช่น
ระบบกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจ และระบบการไหลเวียนโลหิต จะมีการทำงานไปด้วย
ดังนั้น การหยุดวิ่งแบบกะทันหัน จะทำให้ระบบต่างๆ หยุดกะทันหันเช่นกัน
และอาจเป็นผลเสียกับร่างกายได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วการจะหยุดวิ่งนั้น
จะต้องมีการค่อยๆ ลดระดับความเร็วลงเป็นระยะๆ เห็นได้จากนักกีฬาที่แข่งขันในรายการต่างๆ
เวลาเขาวิ่งเข้าสู่เส้นชัยแล้ว เขาก็จะยังคงมีการวิ่งแบบเบาๆ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
เพื่อให้ร่างกายและระบบต่างๆ ได้มีการปรับตัว
แต่สำหรับกรณีของ “ตูน
บอดี้สแลม” เชื่อว่าเขาได้มีการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีสำหรับการวิ่งในครั้งนี้ และการวิ่งของเขาไม่ได้เป็นการวิ่งด้วยอัตราความเร็วมาก
จึงทำให้ร่างกายและระบบต่างๆ ไม่ได้ทำงานหนักจนเกินไป
ซึ่งการวิ่งแบบนี้ถือว่าเป็นการช่วยถนอมร่างกายให้กับเขาได้อีกวิธีหนึ่ง
รวมทั้งบรรยากาศตลอดเส้นทางที่เขาวิ่งผ่านก็มีประชาชนมาคอยให้กำลังใจเป็นระยะ
ทำให้สภาพจิตใจของ “ตูน” ไม่ได้เคร่งเครียด
เพราะภาวะของความเครียดถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ร่างกายทำงานหนักได้
และอีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้ร่างกายทำงานหนัก
นั่นคือสภาพอากาศในขณะที่วิ่ง หากสภาพอากาศค่อนข้างเย็นมีฝนตก
การระเหยของเหงื่อจะทำได้ไม่ดี จึงทำให้ผู้วิ่งรู้สึกอึดอัดและเหนื่อยมากกว่าสภาพอากาศที่อบอุ่น
“การวิ่งของ “ตูน” ครั้งนี้ถือว่าเป็นงานที่ยากมาก
และผิดกับหลักการทางวิชาการ
แต่เชื่อและคอยเป็นกำลังใจให้เขาสามารถวิ่งไปได้ถึงจุดหมายปลายทาง
ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ เมื่อเขาวิ่งถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เขาจะต้องรับการตรวจสภาพร่างกายและระบบต่างๆ ในร่างกายอย่างละเอียด
เนื่องจากการวิ่งที่สะสมเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง
อาจจะทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายได้ตามมาได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาการกีฬา
กล่าว
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการจะเข้าร่วมวิ่งกับ
”ตูน บอดี้สแลม” นั้น
นายแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยา แนะนำว่า ควรเตรียมความพร้อมของร่างกายให้ดี
มีการพักผ่อนและรับประทานอาหารให้มีพลังงานที่เพียงพอ
มีการวอร์มอัพร่างกายก่อนที่จะเริ่มวิ่งทุกครั้ง
และจะต้องรู้ความสามารถในการวิ่งของตัวเอง หากไม่ไหวอย่าฝืนวิ่งต่อไป
สำหรับการวิ่งโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เริ่มต้นวิ่งเมื่อวันที่
1 พ.ย. 2560 ที่จุดเริ่มต้นจาก อ. เบตง จ.ยะลา และสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่
25 ธ.ค. 2560 รวมระยะเวลา 55 วัน ระยะทางรวม 2,191 กิโลเมตร โดยการวิ่งในครั้งนี้ ทางทีมงานวางแผนวิ่งติดต่อกัน
4 วันพัก 1 วัน และตั้งเป้ายอดเงินบริจาคที่ 700 ล้านบาท
รายชื่อโรงพยาบาลที่โครงการก้าวคนละก้าวจะทำการช่วยเหลือ
1.โรงพยาบาลยะลา
2.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
3.โรงพยาบาลราชบุรี
4.โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช อำเภอเมือง
จังหวัดสุพรรณบุรี
5.โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี
6.โรงพยาบาลขอนแก่น
7.โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี
8.โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่
9.โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
10.โรงพยาบาลน่าน
(ไม่ใช่โรงพยาบาลศูนย์แต่อยู่ในพื้นที่พิเศษห่างไกลจากตัวเมือง)
11.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า .- สำนักข่าวไทย
ขอบคุณภาพจาก เพจก้าว @kaokonlakao