นครราชสีมา 17 ม.ค. – กลุ่มชาวบ้าน ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ทดลองสร้างบ้านดิน หวังให้เป็นชุมชนบ้านดิน ต่อยอดสู่แหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
นายเรืองศิลป์ วงศ์บุญทิวา อายุ 72 ปี ชาว ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ผุดไอเดียสร้างบ้านดิน หลังจากได้ศึกษาเรียนรู้การสร้างบ้านดินจากอินเทอร์เน็ต และเห็นไอเดียการตกแต่งโรงแรม รีสอร์ต จากที่ต่างๆ โดยเริ่มทดลองสร้างภายในศูนย์วิสาหกิจชุมชน ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย เป็นบ้านดินขนาดกว้าง 5 เมตร แบ่งเป็นห้องนอน 1 ห้อง ห้องครัว และห้องน้ำ โดยใช้ดินผสมแกลบ สร้างขึ้นมาเกือบทั้งหลัง เหลือเพียงหลังคาเท่านั้นที่ไม่ใช้ดิน และต้องจ้างช่างมาทำโครงเหล็ก
สำหรับการทำอิฐดิน หากเป็นดินเหนียวและแข็งมากๆ ต้องแช่น้ำค้างคืนไว้ก่อน แล้วย่ำดินให้เหลว ผสมด้วยแกลบ จนได้ความข้นหนืดพอสำหรับนำมาอัดลงบนแบบพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำก้อนขนาดกว้าง 6 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว สูง 4 นิ้ว หรือ กว้าง 8 นิ้ว ยาว 16 นิ้ว สูง 4 นิ้ว ทั้งนี้ ขนาดและรูปทรงขึ้นอยู่กับการออกแบบบ้านของผู้สร้าง ซึ่งเมื่อขึ้นรูปอิฐดินใส่บล็อกแล้ว หลังจากนั้นก็ตากแดดประมาณ 7 วัน เมื่ออิฐดินแห้งสนิทแล้ว ก็สามารถนำไปก่อผนัง ก่อกำแพงได้ เช่นเดียวกับการก่ออิฐปูนทั่วไป เพียงแต่การวางก้อนดิน ควรจะวางในแนวนอน เพื่อให้กำแพงมีความหนา สามารถรับน้ำหนักได้ หลังจากนั้นใช้ดินย่ำผสมแกลบ เพื่อเป็นตัวเชื่อมประสานแต่ละก้อน แล้วค่อยฉาบละเอียด หรืออาจเรียกว่า ฉาบสี ก็ได้ โดยบ้านหลังที่เห็นนี้จะผสมสีกับดินและทรายลงในแป้งเปียกที่ต้มจนเหนียวฉาบทับผนัง ซึ่งเมื่อผนังสีแห้งแล้ว จะไม่มีปัญหาการหลุดล่อนของผิวผนัง แต่ในส่วนที่ต้องป้องกันน้ำเป็นพิเศษ เช่น ห้องน้ำ ต้องมีส่วนผสมของซีเมนต์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก ก็จะได้บ้านดินที่แข็งแรง ประหยัด
วัตถุประสงค์ในการทำบ้านดิน พี่เรืองศิลป์ บอกว่า ต้องการให้คนในชุมชนหันมาสร้างบ้านแบบรักษ์โลก รักษ์ธรรมชาติ และอยากให้กลายเป็นชุมชนบ้านดิน เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชนบท และส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป. – สำนักข่าวไทย