กระทรวงคมนาคมสรุปแผนลงทุนการขนส่งทางน้ำ
วงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำกว่า 12% ต่อ จีดีพี
กรุงเทพฯ 27 ก.ย. – นายพิชิต
อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
กล่าวถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขนส่งทางน้ำของประเทศ
เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทย
เน้นขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพ การขนส่งเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค
โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณ การขนส่งสินค้าทางน้ำต่อสัดส่วนการขนส่งสินค้าทั้งหมดภายในประเทศ
เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 17
พร้อมลดต้นทุนขนส่งสินค้าต่อจีดีพีประเทศให้เหลือไม่เกินร้อยละ 12ภายในระยะเวลา 20 ปี
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต้องใช้วงเงินลงทุนทั้งสิ้นราว
46,286 ล้านบาท
พบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ร้อยละ 17เน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางชายฝั่งตลอดจนแผนบริหารจัดการและมาตรการจูงใจเอกชนเช่นการยกเว้นภาษี
ประกอบด้วย 1.แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 40,260 ล้านบาท ประกอบด้วย
โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านเพื่อการเดินเรือ วงเงิน 27,080 ล้านบาท
โครงการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำเชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล
วงเงิน 11,180 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรือสงขลาอีก 2,000 ล้านบาท 2.แผนก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งใหม่ จำนวน 3 แห่ง วงเงินลงทุนรวม 4,447 ล้านบาท ได้แก่ โครงการท่าเทียบเรือ
20G บริเวณเขื่อนตะวันออก ท่าเรือกรุงเทพ 1,000 ล้านบาท โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ท่าเรือแหลมฉบัง
วงเงิน 1,864 ล้านบาท โครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งที่สงขลา 1,500 ล้านบาท และการสร้างพื้นที่จอดเรือบริเวณสามแยกท่าทอง (ร่องน้ำบ้านดอน)
และบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ซุ่งอยู่ฝั่งสนามกอล์ฟ ร่องน้ำบางปะกง วงเงินรวม 83 ล้านบาท 3.การลงทุนรักษาร่องน้ำทั่วประเทศ
วงเงินรวม 1,579 ล้านบาท
เพื่อขยายความลึกให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางเรือ อาทิ
ร่องน้ำท่าจีน ร่องน้ำแม่กลอง ร่องน้ำสงขลา ร่องน้ำบางปะกง ร่องน้ำบ้านดอน
ร่องน้ำภูเก็ต ร่องน้ำระนองและร่องน้ำกันตัง
โดยหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะเสนอแผนดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
(กบส.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือน พ.ย.
นี้ เพื่อขอนุมัติโครงการตลอดจนเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าว
ตามแผนยุทธศาสตร์การขนส่งทางน้ำ พร้อมส่งต่อแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป อาทิ
กรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตามงบประมาณบางส่วนนั้นกระทรวงคมนาคมมีดำเนินการอยู่บ้างแล้ว เช่น
การขุดลอกแม่น้ำลำคลองตลอดจนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง.- สำนักข่าวไทย