26 ธันวาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้รอรับการบริจาคอวัยวะ เมื่ออนุญาตให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV สามารถบริจาคตับและไตได้เป็นครั้งแรก
บทสรุป :
1.สหรัฐฯ อนุญาตให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV สามารถบริจาคตับและไตให้กับผู้ติดเชื้อไวรัส HIV เพื่อการการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเป็นครั้งแรก ไม่ใช่การบริจาคอวัยวะให้กับคนทั่วไป
2.เมื่อผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ไม่ต้องรอแต่การบริจาคอวัยวะจากผู้ไม่ติดเชื้อเหมือนในอดีต ทำให้คนทั่วไปมีโอกาสการเข้าถึงการบริจาครอวัยวะมากขึ้นตามไปด้วย
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบพบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการจงใจบิดเบือนข้อมูลให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคม เพราะแท้จริงแล้ว นโยบายดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV มีโอกาสได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับและไตมากขึ้น เมื่ออนุญาตให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV สามารถบริจาคตับและไตให้กับผู้ติดเชื้อไวรัส HIV เป็นครั้งแรก จากการประกาศโดยกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2024
อคติต่อผู้ติดเชื้อไวรัส HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์ ทำให้สหรัฐฯ เคยออกกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ทำการบริจาคอวัยวะมาตั้งแต่ปี 1988
จุดเปลี่ยนมาเกิดขึ้นในปี 2010 เมื่อแพทย์ในประเทศแอฟริกาใต้ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคอวัยวะที่มีเชื้อไวรัส HIV ให้กับผู้รับอวัยวะที่มีเชื้อไวรัส HIV เช่นกัน
การกระทำดังกล่าวยังเป็นสิ่งต้องห้ามในสหรัฐฯ ในเวลานั้น นำไปสู่การเรียกร้องการเปลี่ยนกฎหมายการบริจาคอวัยวะของผู้ติดเชื้อไวรัส HIV จนเกิดการร่างกฎหมายตัวใหม่ในปี 2013 ที่ชื่อว่า HIV Organ Policy Equity Act หรือ HOPE Act ในสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา อนุญาตให้มีการวิจัยของการนำอวัยวะของผู้ที่มีเชื้อไวรัส HIV ไปผ่าตัดปลูกถ่ายให้กับผู้รับที่มีเชื้อไวรัส HIV เพื่อศึกษาอัตราการรอดชีวิตหลังปลูกถ่ายอวัยวะ อัตราการปฏิเสธอวัยวะ การทำงานของอวัยวะ และความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สายพันธุ์ของไวรัสที่ต่างกันระหว่างผู้บริจาคและผู้รับ
ในปี 2015 เริ่มมีการให้ทดลองผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ที่เสียชีวิตแล้ว จนกระทั่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ได้ทดลองผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ที่ยังมีชีวิตเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2019
หลังติดตามผลการทดลองเป็นเวลา 4 ปี ทีมวิจัยของ Johns Hopkins University ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ทางวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024
เนื้อหาเป็นการรายงานผลการทดลองผ่าตัดปลูกถ่ายไตกับผู้รับบริจาคจำนวน 198 ราย ซึ่งทุกรายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นการบริจาคอวัยวะจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้บริจาคที่มีเชื้อไวรัส HIV และผู้บริจาคที่ไม่มีเชื้อไวรัส HIV
การสำรวจพบว่า ทั้งกลุ่มที่ได้รับบริจาคอวัยวะจากผู้ติดเชื้อไวรัส HIV และผู้ที่ไม่มีเชื้อไวรัส HIV ต่างรอดชีวิตหลังปลูกถ่ายอวัยวะในอัตราสูง และมีอัตราการปฏิเสธอวัยวะต่ำเหมือนกัน
การวัดปริมาณไวรัส HIV พบว่า ในกลุ่มผู้รับไตจากผู้ติดเชื้อ HIV พบปริมาณไวรัส HIV เพิ่มขึ้น 13 ราย ส่วนผู้รับไตจากผู้ไม่ติดเชื้อ HIV พบปริมาณไวรัส HIV เพิ่มขึ้น 4 ราย
โดยปริมาณไวรัส HIV ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับเดียวกับผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ที่ได้รับยาต้านไวรัสไม่ต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังปริมาณไวรัส HIV ในร่างกายก็กลับมาอยู่ในระดับต่ำหรือตรวจไม่พบทุกราย
การเปิดโอกาสให้มีการผ่าตัดปลูกถ่ายตับและไตระหว่างผู้ติดเชื้อไวรัส HIV เพิ่มความหวังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด หรือหัวใจ ระหว่างผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ในอนาคต
ข้อมูลจากหน่วยงาน United Network for Organ Sharing ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะในสหรัฐฯ พบว่าในสหรัฐฯ มีผู้คนรอการบริจาคไตเพื่อการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวน 90,000 ราย และในปี 2022 พบว่า มีผู้เสียชีวิตระหว่างการรอรับบริจาคไตไปถึง 4,000 ราย
ความสำเร็จของกฎหมาย HOPE Act นำไปสู่การผ่าตัดปลูกถ่ายตับและไตจากผู้บริจาคอวัยวะที่มีเชื้อไวรัส HIV แล้วถึง 517 ครั้ง
แคร์รี ฟูต ศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยอินเดียนาโพลิส ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไวรัส HIV และขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริจาคอวัยวะ อธิบายต่อสำนักข่าวเอพีว่า ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ถูกขัดขวางจากการบริจาคอวัยวะ เนื่องด้วยกฎหมายระดับรัฐที่ล้าหลังและเป็นอคติต่อผู้ติดเชื้อไวรัส HIV การมาถึงของ HOPE Act ไม่เพียงเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ที่รอการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้รอการบริจาคอวัยวะทั่วไปอีกด้วย เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้มีผู้บริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/fact-check/posts-about-kidney-liver-transplants-between-hiv-positive-people-lack-context-2024-12-04/
https://apnews.com/article/kidney-transplant-hiv-research-ebfeb22cf6df39bac3d11613102fdecb
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2403733
https://en.wikipedia.org/wiki/HIV_Organ_Policy_Equity_Act
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter