ตุรกี 221 ก.ย.-ตุรกี ประเทศมุสลิมสมัยใหม่ มีจุดเด่นที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย และยังเป็นมุสลิมชาติเดียวในนาโตที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกอียู จึงเป็นอีกประเทศเป้าหมายที่ไทยได้เดินทางไปเปิดเจรจาเอฟทีเอ
ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์นี้ทำให้ตุรกี โดยเฉพาะที่กรุงอิสตัสบูล ที่ไม่มีดีที่ความสวยงามติดอันดับโลกเท่านั้น แต่นครนี้ยังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และยังเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 2 ทวีป
ขณะที่ในแง่มุมตลาด ขนาดเศรษฐกิจตุรกียังใหญ่เป็นอันดับ 19 ของโลก การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้สำคัญ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาชมความงามกว่า 30 ล้านคน ขณะที่การค้ากับตุรกีในรอบ 5 ปีของไทยเองแม้มูลค่าเฉลี่ยยังไม่มาก แค่กว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ในภูมิภาคตะวันออกกลางถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ซึ่งไทยก็เป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม มาตรการทางภาษีนำเข้าที่ยังสูงเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ส่วนสินค้าเกษตรตั้งแต่อัตรา 50-100% ยังเป็นอุปสรรคการค้าสำคัญที่ต้องอาศัยการเปิดเจรจาเอฟทีเอ เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า และการเข้าถึงอียูได้อีกทางหนึ่ง ส่วนจุดเด่นด้านเมืองท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของตุรกีก็ยังเป็นโอกาสที่จะขยายการลงทุนด้านการท่องเที่ยวได้อีกหลายสาขา
โอกาสทางการค้าและการลงทุนที่น่าสนใจนี้ ทำให้ผู้นำด้านอาหารรายใหญ่ของไทย อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่งซีพีเอฟเป็นผู้ลงทุนไทยหนึ่งเดียวที่เข้ามาเปิดตลาดไก่เนื้อและไก่ไข่ที่นี่มาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะยังเผชิญกับอุปสรรคด้านภาษีและปัญหาการเมืองบ้าง แต่ยอดขายสินค้าระดับพรีเมียมของซีพีก็ยังเติบโต
ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะด้านภูมิศาสตร์ ทำให้ทั้ง 2 ประเทศสามารถใช้กันและกันเป็นประตูการค้าในแต่ละภูมิภาค ซึ่งหลังเปิดเจรจาเอฟทีเอ ไทย-ตุรกี ระดับรัฐมนตรีที่กรุงอังการาแล้ว การเจรจาครั้งต่อไปจะมีขึ้นในไทย เดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้สองประเทศบรรลุข้อตกลงเอฟทีเอได้ในปลายปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่ฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 60 ปีไทย-ตุรกี.-สำนักข่าวไทย