กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – สรรพสามิต หนุนระบบ “QR บุหรี่” ยกระดับการปราบปรามบุหรี่หนีภาษี ดูแลสุขภาพสิงห์อมควัน เพียงสแกน QR Code บนดวงแสตมป์สรรพสามิต
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจเยี่ยมการนำระบบ “QR บุหรี่” มาใช้ติดตามและแกะรอย (Track & Trace) ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ติดตามข้อมูลตั้งแต่ ณ สถานที่ผลิต ไปจนถึงผู้บริโภค และนำข้อมูลทั้งหมดมาสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และการตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ และ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีและแหล่งที่มาของบุหรี่ ไม่ให้เป็นของปลอม อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า แสตมป์สรรพสามิตในปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการปลอมแปลงที่ทันสมัยใกล้เคียงกับการพิมพ์ธนบัตร และยังมี Unique QR code และ Unique Serial Number ที่มีรหัสไม่ซ้ำกันบนดวงแสตมป์ในแต่ละดวงแสตมป์เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลบนดวงแสตมป์นั้นได้ โดยในการตรวจสอบว่าเป็นสินค้าบุหรี่ซิกาแรตที่ชำระภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ประชาชนสามารถทำได้โดยการนำโทรศัพท์มือถือสแกน QR Code บนดวงแสตมป์สรรพสามิต ซึ่งจะมีการแสดงข้อมูลต่าง ๆ ปรากฎขึ้น อาทิ ตราสินค้า รายละเอียดสินค้า ชื่อผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า วันที่ชำระภาษี สถานที่จัดส่ง และราคาสินค้า โดยผู้ซื้อสามารถตรวจเช็คว่าข้อมูลเหล่านี้ ตรงตามกับสินค้าที่กำลังจะซื้อหรือไม่หากพบว่าข้อมูลของสินค้ากับข้อมูลที่ปรากฎไม่ตรงกัน ผู้ซื้อก็ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้านั้น เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิตและไม่ผ่านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานของสินค้านั้น ๆ ซึ่งหากบริโภคเข้าไป ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า ระบบ “QR บุหรี่” หรือระบบตรวจสอบติดตามและแกะรอย (Track & Trace) นั้น เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาตามนโยบายของกรมสรรพสามิต ช่วยให้กรมสรรพสามิตมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์และดำเนินนโยบายต่าง ๆที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถตรวจสอบข้อมูลแหล่งที่มาของบุหรี่ได้ผ่านการแสกน QR Code บนโทรศัพท์มือถือ หากพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้องหรือมีข้อสงสัยว่าอาจเป็นสินค้าปลอม แจ้งมายังกรมสรรพสามิตได้ด้วยการกดปุ่มแจ้งเบาะแสที่แสดงในหน้าจอโทรศัพท์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้า มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน.-515- สำนักข่าวไทย