จีน 7 พ.ย.-“มาริษ” รมว.กต. ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี เข้าประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 10 ณ นครคุนหมิง พร้อมส่งเสริมผลประโยชน์และศักยภาพของอนุภูมิภาค รับมือกับความท้าทาย-ภัยคุกคาม มุ่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมคณะติดตาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 10 ที่นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดโดย สปป. ลาว ในฐานะประธานปัจจุบันของ ACMECS โดยมีผู้นำของ 5 ประเทศ คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประธานการประชุมฯ และนายกรัฐมนตรีจากราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วม
สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 แสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่เป็นความท้าทายร่วมกันของอนุภูมิภาค และย้ำความสำคัญของปฏิญญากรุงเทพ เมื่อปี 2561 ที่ประเทศสมาชิกเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (ACMDF) ที่ประชุมยังแสดงความยินดีกับความสำเร็จของการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS (ACMECS Interim Secretariat) ซึ่งอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศไทย และต้อนรับนิวซีแลนด์ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS ล่าสุด (ประเทศที่ 7) โดยเชื่อมั่นว่า นิวซีแลนด์จะมีบทบาทสำคัญในอนุภูมิภาคต่อไป
นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงความร่วมมือในการส่งเสริมผลประโยชน์และศักยภาพของอนุภูมิภาค โดยเน้นความพยายามร่วมกันรับมือกับความท้าทายและภัยคุกคามที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ อาชญากรรมข้ามพรมแดน การค้ายาเสพติด อาชญากรรมทางไซเบอร์ มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยได้เสนอเอกสารแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิกร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) ของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 และ 2.ร่างเอกสารแนวคิด (Concept Note) เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บทฯ โดยประเทศไทยเป็นผู้เสนอ.-316.-สำนักข่าวไทย