กรุงเทพฯ 6 พ.ย. – พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน ต.ค.67 เพิ่มร้อยละ 0.83 คาดทั้งปีร้อยละ 0.2-0.8 ลุ้นมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจดึงเงินเฟ้อเพิ่ม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.83 มาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด และราคาน้ำมันดีเซล ค่าไฟฟ้า ปรับสูงขึ้น หลังจากฐานราคาต่ำในปีก่อน จากมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของรัฐบาล ส่วนราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ กระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศ มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ อันดับ 20 จาก 140 เขตเศรษฐกิจ และอยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว) สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือนตุลาคม 67 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 67 ลดลงร้อยละ 0.06 (MoM) กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 0.2– 0.8 พร้อมทบทวนอีกครั้ง
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.26 (AoA) พาณิชย์คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยหนุทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ 1. ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2. ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า 3. สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัว สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว
ส่วนปัจจัยดึงให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (เดือนพฤศจิกายน 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวของอุทกภัยและน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่สิ้นสุดลง ยอมรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท) ช่วยส่งเสริมการบริโภคในประเทศ การส่งออกขยายตัว การทยอยลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ช่วยผ่อนคลายความกังวลด้านการเงินให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด.-515- สำนักข่าวไทย