อินเดีย 2 พ.ย.-“มาริษ” รมว.ต่างประเทศ จัดแถว “ทูตเอเชียใต้” มอบนโยบายความมั่นคง 3 ด้าน อาหาร-พลังงาน-มนุษยชาติ ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง หวังเชื่อมต่อตลาดตะวันตก-ตะวันออก 2 พันล้านคน จับมือประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนให้เด่นชัดมีบทบาทสำคัญ
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ของไทยในประเทศเอเชียใต้ว่า ภูมิภาคนี้มีพลเมืองเกือบ 2,000 ล้านคน เทียบเท่า 1 ใน 4 ของ ประชากรโลก ภูมิภาคเอเชียใต้ถือว่ามีความสำคัญมากในหลายๆ มิติ เป็นจุดเชื่อมทั้งทางบกและทางทะเล ทำให้มีการแข่งขันทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์
ขณะที่ประเทศไทยก็มีความสำคัญเพราะตั้งอยู่ศูนย์กลางและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้กับกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยมีความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ผ่านบิมสเทค ซึ่งมีประชากรประมาณ 2,000 ล้านคน ขณะที่การเชื่อมโยงผ่านอาเซียนพลัสก็มีประชากรอีก 2,000 ล้านคนเช่นกัน ไทยที่ตั้งอยู่ตรงกลางจึงเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย เรามองจุดเชื่อมต่อผ่านกลุ่มประเทศเอเชียใต้เช่น ปากีสถานไปยังกลุ่มประเทศเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน ทาจิกิสทาน ที่เป็นศูนย์กลางการค้ากับทวีปยุโรป
นายมาริษกล่าวว่า ประเทศที่สำคัญที่สุดคืออินเดีย ที่มีความสัมพันธ์กับไทยมาช้านาน มีสัมพันธ์ทางการทูตอย่างแนบแน่นในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ตนจะเข้าพบนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ซึ่ง
มีหลายประเด็นข้อหารือ รวมทั้งการจะใช้โอกาสที่ไทยและอินเดียเคยหารือว่าจะร่วมกันขับเคลื่อนและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเจริญและพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียใต้
นายมาริษ กล่าวว่า ในส่วนของบังคลาเทศมีศักยภาพสูง แต่ขณะนี้ประสบปัญหาการเมือง มีการขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี และมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นไทยและอินเดียจะต้องมีความร่วมมือเพื่อพยุงให้ประเทศที่มีปัญหา ในกลุ่มเอเชียใต้ ทำให้ประเทศเหล่านี้กลับมามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการร่วมมือกับประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาให้เด่นชัดและมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ล้วนแต่เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพราะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายและมีประชากรจำนวนมาก มีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า รวมถึฃอาหารเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นลำดับต้นๆ ของโลก จึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก นอกจากนี้ในส่วนของประเทศศรีลังกาก็มีความสัมพันธ์กับไทยมาช้านาน มีความไว้เนื้อเชื่อใจ ติดต่อเรื่องพระพุทธศาสนา รวมถึงการค้าการลงทุน
นายมาริษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบนโยบายที่ชัดเจนให้กับทูตที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายสำคัญของประเทศไทยที่นโยบายสาธารณะกับนโยบายต่างประเทศเกือบจะเป็นเรื่องเดียวกันคือมุ่งไปที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อทำให้นโยบายต่างประเทศ สามารถเป็นนโยบายที่ ประชาชนจับต้องได้ นำมาซึ่งผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน เมื่อคำนึงถึงการต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นโยบายต่อกลุ่มประเทศเอเชียใต้จะอยู่บนพื้นฐานความมั่นคง 3 ด้านคือ 1.ความมั่นคงด้านอาหาร ที่มีศักยภาพ ทั้งเรื่องธัญพืช ที่ไทยกับอินเดียมีศักยภาพในการปลูกข้าว หากร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียได้จะสามารถการันตีเรื่องความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้จะผลักดันความร่วมมือการประมง โดยมอบนโยบายให้ทูตเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำ เทคโนโลยีวิจัยพัฒนา นำไปสู่ธุรกิจกลางน้ำประมงจับปลา และปลายน้ำ คือเครือข่ายการตลาด ซึ่งยุทธศาสตร์ของไทยจะทำให้เราเชื่อมต่อตลาด 2 พันล้านคนทางฝั่งตะวันตกและ 2 พันล้าน คนฝั่งตะวันออก
2.ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียในการผลักดันความร่วมมืออย่างแนบแน่นในการพัฒนาพลังงานทางเลือก ที่สองประเทศมีระบบพัฒนาซึ่งมีศักยภาพสามารถที่จะทำการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย
3.ความมั่นคงของมนุษยชาติ ที่จะทำงานร่วมกันกับประเทศในเอเชียใต้ ไทยเป็นประเทศที่ได้รับคำชื่นชมจากประชาคมโลกเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรามีศักยภาพในการรักษาพยาบาล การพัฒนายาและวัคซีน ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือ ทางด้านเวชภัณฑ์และยารักษาโรคกับอินเดีย ที่มีศักยภาพผลิตยาและวัคซีน หากร่วมมือกันเชื่อว่าจะร่วมกันพัฒนาภูมิภาคเอเชียใต้ได้ อย่างสมบูรณ์ และนำมาซึ่ง ความมั่นคงทางด้านมนุษยชาติมากยิ่งขึ้น
นายมาริษ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในหลายด้านเช่น ทางการทหาร และความมั่นคง ที่ขณะนี้ประเทศไทย มีเทคโนโลยี อาวุธยุทโธปกรณ์ ในระดับหนึ่ง อินเดียปากีสถานและประเทศอื่นๆ ก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาร่วมกันได้ จึงเป็นอีกหนึ่งสาขาที่พยายามมองหาลู่ทางและโอกาสที่จะร่วมกันพัฒนา เพื่อความมั่นคงทางด้านการทหารและการเมือง ทั้งยังเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวการเชื่อมต่ออารยธรรม ที่มีคุณค่า รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยมีสถานที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ ก็จะทำให้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มมูลค่า ประสบความสำเร็จ นำมาซึ่งผลประโยชน์ ของประเทศชาติและประชาชน.-319.-สำนักข่าวไทย