กรุงเทพฯ 28 ต.ค. – เผยผลสำรวจโครงการ Thailand Digital Outlook ประจำปี 2567 ดิจิทัลไทยดีขึ้นทุกมิติ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แรงงานดิจิทัลเฉพาะทางเพิ่มขึ้น เชื่อดิจิทัลไทยพร้อมแข่งในระดับโลก
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2567 ดำเนินการศึกษาตัวชี้วัดด้านการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลของประเทศไทย โดยอิงข้อมูลจาก OECD Going Digital toolkit และ กรอบ Measuring the Digital Transformation ของ OECD ซึ่งมีการสำรวจทั้งสิ้น 8 มิติ ประกอบด้วย 1) การเข้าถึง 2) การใช้งาน 3) นวัตกรรม 4) อาชีพ 5) สังคม 6) ความน่าเชื่อถือ 7) การเปิดเสรีของตลาด และ 8) การเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ สำหรับในปี พ.ศ.2567 มีการนำเสนอตัวชี้วัดทั้งหมด 102 ตัวชี้วัด ซึ่งมีวิธีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลผ่านแบบสอบถาม โดยสำรวจจำนวน 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยบริการปฐมภูมิรวมจำนวน 51,187 ตัวอย่าง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสิ้น 35 หน่วยงาน
นายเวทางค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจพบว่าตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้นในทุกมิติ เช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 90.3 (21.7 ล้านครัวเรือน) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 89.5 (21.0 ล้านครัวเรือน), ประชากรช่วงอายุ 16 – 74 ปี มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 90.7 (50.1 ล้านคน) เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 89.5 (49.2 ล้านคน), แรงงานดิจิทัลที่ทักษะเฉพาะทางเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.63 แสนราย เป็น 2.78 แสนราย โดยมีผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในอาชีพ โปรแกรมเมอร์ และ ช่างเทคนิคปฏิบัติการด้าน ICT, ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (บุคคลทั่วไปที่มีระดับรายได้ครัวเรือนอยู่ในช่วงร้อยละ 25 ที่ต่ำที่สุด) มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ร้อยละ 74.60 (12.12 ล้านคน) เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ ร้อยละ 69.90 (11.23 ล้านคน), สัดส่วนจำนวนนักศึกษาจบใหม่ระดับอุดมศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ร้อยละ 33.26 (101,411 ราย จากจำนวน 304,925 ราย) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 23.69
“นอกจากนั้นแล้วพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 20 นาที เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่เฉลี่ยวันละ 7 ชั่วโมง 25 นาที โดยพบว่า ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการติดต่อสื่อสาร และการทำธุรกรรมทางการเงิน และการพักผ่อน/บันเทิง สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ของประชาชน เพิ่มสูงขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ซื้อสินค้าออนไลน์จะมีการซื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมีมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากเดิม 375 บาท/ครั้ง เป็น 428 บาท/ครั้ง โดยมีสินค้าที่เป็นที่นิยมสูงสุดสามอันดับแรกคือ เสื้อผ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือ ตามลำดับ โดยช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ E-Marketplace เช่น Shopee Lazada ซึ่งผู้ซื้อสินค้าออนไลน์นิยมใช้ช่องทางนี้สูงถึงร้อยละ 95.98 (16,501 ราย จากผู้ตอบ 17,193 ราย) ตามมาด้วย Social Commerce ได้แก่ Tiktok Line Facebook อยู่ที่ ร้อยละ 47.18 (8,111 ราย จากผู้ตอบ 17,193 ราย)” นายเวทางค์ฯ กล่าว
พร้อมกันนี้ ภายในงานได้จัดเวทีเสวนา ภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand)” โดยวิทยากรรับเชิญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้ร่วมกันพูดคุยหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์” ต่อไปในอนาคต.-513-สำนักข่าวไทย