25 ต.ค. – ไทม์ไลน์ 20 ปี “คดีตากใบ” กับความความสูญเสีย 85 ชีวิตที่ไร้คนรับผิดชอบ ขณะที่ผู้ต้องหาลอยนวล
ช่วงปี 2547 มีสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีการประท้วงและเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจ
วันเกิดเหตุ 25 ต.ค. 2547
เช้า-มีการชุมนุมประท้วงบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ชาวบ้านไม่พอใจที่ตำรวจจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ต.พร่อน อ.ตากใบ รวม 6 คน ด้วยเชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นกับการถูกปล้นปืนโดยกองกำลังติดอาวุธ จึงรวมตัวเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว โดยมีประชาชนในพื้นที่ทยอยมาเรื่อยๆ จนเกิดเหตุวุ่นวาย
สายถึงบ่าย-ประชาชนราว 1,500 คน ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้ง 6 คน การประท้วงบานปลาย เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถูกส่งเข้าพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ และเริ่มมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยาง น้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตา เพื่อตรึงสถานการณ์ ผู้ประท้วงบางส่วนเริ่มใช้ความรุนแรง เช่น ปาหิน และใช้ท่อนไม้เข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่
บ่าย-เจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยการควบคุมผู้ชุมนุม ผู้ประท้วงถูกบังคับให้นอนหมอบลงกับพื้นและถูกจับมัดมือ เจ้าหน้าที่ทหารจัดรถบรรทุกหลายคันเพื่อขนส่งผู้ชุมนุมเหล่านี้ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
ระหว่างการเดินทาง-ผู้ประท้วงถูกบังคับให้นอนทับกันหลายชั้นในรถบรรทุกอย่างแออัด การเดินทางกินเวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง ภายใต้ความร้อนอบอ้าวและความแออัด ทำให้ผู้ชุมนุมขาดอากาศหายใจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน (เสียชีวิตบนรถบรรทุก) นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการสลายการชุมนุมอีก 7 คน รวมยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 85 คน
ปี 2552 : การฟ้องร้องในชั้นศาล
ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษาว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง แต่ไม่มีการระบุว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีเจ้าหน้าที่ใดต้องรับผิดชอบทางอาญา
ปี 2555 : เยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย
ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการมอบเงินเยียวยาให้แก่ประชาชาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 651,451,200 บาท ดังนี้ ผู้เสียชีวิต 85 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 7,500,000 บาท
ปี 2567 : ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง
23 ส.ค. ศาลจังหวัดนราธิวาส รับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบเมื่อปี 2547 จำเลย 7 คน ข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว
12 ก.ย. ศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับ 6 จำเลยคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ส่วน พล.อ.พิศาล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.พรรคเพื่อไทย ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ
18 ก.ย. อัยการสูงสุดสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คนคดีตากใบ วินิจฉัยว่าแม้จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมพันกว่าคน เป็นการบรรทุกแออัดเกินความเหมาะสม เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย
3 ต.ค. ศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.เพื่อไทย ในคดีสลายการชุมนุมที่ตากใบ
15 ต.ค. พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.เพื่อไทย ยื่นหนังสือลาออกพรรคเพื่อไทย
24 ต.ค. ผบ.ตร. สั่งค้น 5 จุด ตามผู้ต้องหาตามหมายจับคดีตากใบ
25 ต.ค. คดีหมดอายุความ .-สำนักข่าวไทย