กรุงเทพฯ 24 ต.ค.- ส.อ.ท. เผยเดือนกันยายน 2567 ผลิตรถยนต์ได้ 122,277 คัน ลดลง 25.48% ขายได้แค่ 39,048 คัน ลดลง 37.11% ต่ำสุดในรอบ 53 เดือน ส่วน BEV เหลือแค่ 4,574 คัน ลดลง 33.53% เล็งปรับเป้าใหม่ทั้งหมด
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เดือนกันยายน 2567 ยอดการผลิตและยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกรถยนต์ลดลงทุกส่วน โดยมียอดการผลิตอยู่ที่ 122,277 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2566 ถึง 25.48% ส่งผลให้ 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2567) ผลิตรวมทั้งสิ้น 1,128,026 คัน ลดลง 18.61%
ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกเดือนกันยายน 2567 ผลิตได้ 87,666 คัน เท่ากับ 71.69% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงเช่นกันที่ 15.78% ทำให้ 9 เดือน ผลิตเพื่อส่งออกได้ 774,175 คัน ลดลง 4.42% และการผลิตเพื่อขายในประเทศอยู่ที่ 34,611 คัน ลดลงถึง 42.31% ส่งผลให้ 9 เดือน ผลิตได้แค่ 353,851 คัน ลดลง 38.57%
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 39,048 คัน ต่ำสุดในรอบ 53 เดือน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2567 ที่ 13.59% ลดลงจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์ เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259,330 ล้านบาท ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2 ปี 2567 ที่โตต่ำแค่ 2.3% และคาดว่า 2567 จะเติบโตแค่ 2.7-2.8% เท่านั้น และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2567 หดตัว 1.91% แสดงถึงรายได้คนทำงานยังคงอ่อนแอ และส่งผลให้ยอดขายในเดือนกันยายน 2567 ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 37.11% ดังนั้น 9 เดือน จึงมียอดขาย 438,659 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกัน 25.25%
การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ส่งออกได้ 80,254 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 6.75% และลดลงจากเดือนกันยายน 2566 ที่ 17.67% ลดลงจากการขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนเที่ยวเรือลดลงและมีการใช้จ่ายลดลงในตลาดประเทศคู่ค้าหลายประเทศมียอดขายรถยนต์ลดลง จึงส่งออกลดลงทุกตลาดยกเว้นตลาดออสเตรเลียที่ยังเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,606 คัน ลดลงจากเดือนกันยายนปีที่แล้ว 25.81% ซึ่งหากดู 9 เดือน BEV ยังคงมีตัวเลขจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 75,653 คัน เพิ่มขึ้น 11.67% ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 734 คัน ลดลงจากเดือนกันยายนปีที่แล้วร้อยละ 27.76
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า คาดว่าเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการหารือในกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อประเมินสถานการณ์และปรับเป้าผลิต-ขายในประเทศและเป้าส่งออกอีกหลายหมื่นคัน จากเดิมเป้าผลิตเพื่อการส่งออกทั้งปี 2567 อยู่ที่ 1,150,000 คัน ส่วนยอดผลิตขายในประเทศจากเป้าเดิม 750,000 คัน ซึ่งคาดว่าจะลดเช่นกัน เพราะแบงก์ยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันยอดขาย EV ก็ยังลดลง เพราะลูกค้าลังเลเรื่องของราคา แม้ว่าราคาแร่ลิเทียมโลกลดลงทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงตาม แต่ปี 2568 คาดว่าราคาแบตเตอรี่อาจจะพุ่งขึ้นอีก
“เราห่วงยอดขายมากเพราะหนี้ครัวเรือนยังสูงถึง 90% ซึ่งไม่ควรเกิน 80% ของ GDP ส่วนปีนี้-ปีหน้าก็ยังไม่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะดีหรือโต ต้องดูว่าเศรษฐกิจจะดีไหม เมื่อดูยอดขอบีโอไอที่มีตัวเลขคำขอสูงถึง 7 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ก็หวังว่าปีหน้าจะมีการลงทุนจริง เพราะจะทำให้เกิดงานจ้างงาน คนมีรายได้ใช้หนี้หนี้ครัวเรือนก็ลด แบงก์ก็จะปล่อยกู้ทั้งรถยนต์และอสังหา ตัวเลขหนี้รถยนต์เช่าซื้อลดลงแต่หนี้เสียมันเพิ่มขึ้น รายได้ลดตั้งแต่เกิดโควิด-19 ถ้ายังเป็นแบบนี่จะขาดอำนาจซื้อทุกอย่าง แล้วจะทำไงให้ภาคผลิตโต ถ้าหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อชิ้นส่วนทำงานลดลง เพราะยอดขายยอดผลิตลด มีการคาดการณ์ว่า 2-3 ปี หนี้ครัวเรือนถึงจะลด สุดท้ายต้องดูว่าเศรษฐกิจโตจากการลงทุนได้ไหม เราจึงเตรียมปรับเป้ายอดผลิตที่ขายในประเทศและส่งออก” นายสุรพงษ์ กล่าว . -517-สำนักข่าวไทย