กรุงเทพฯ 26 มี.ค.-รถอีวีมีส่วนแบ่งตลาดในไทยเพิ่มขึ้น ในขณะที่งบฯ 67 ล่าช้า แบงก์เข้มงวดสินเชื่อ ส่งผล ยอดผลิต-จำหน่ายรถยนต์ในไทย เดือน ก.พ.หดตัว ยอดผลิตลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า ยอดการผลิตรถยนต์เดือน ก.พ.67 อยู่ที่ 133,690 คัน ลดลง 19.28% จากเดือน ก.พ.66 และลดลง 5.92% จากเดือน ม.ค.67 ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากยอดผลิตรถกระบะทั้งส่งออกและขายในประเทศลดลงเนื่องจากบางบริษัทขาดชิ้นส่วน ยอดผลิตรถยนต์นั่งลดลงเพราะถูกรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด และยอดผลิตรถกระบะลดลงตามยอดขายเนื่องจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ตามนโยบายการให้กู้แบบรับผิดชอบและหนี้ครัวเรือนสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ยอดรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 275,792 คัน ลดลง 15.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับยอดจำหน่ายในประเทศของเดือน ก.พ.67 อยู่ที่ 52,843 คัน ลดลง 26.15% จากเดือน ก.พ.67 และลดลง 3.60% จากเดือน ม.ค.67 และยอดขายรถ PPV (รถอเนกประสงค์ที่มีพื้นฐานและดัดแปลงมาจากรถกระบะ) ลดลง 47.6% จากการไปซื้อรถยนต์นั่งตรวจการณ์ที่เป็น HEV (รถยนต์ Hybrid )มากขึ้นเพราะราคาถูกกว่า รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตในระดับต่ำ เพราะการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้าไปถึงเดือน เม.ย.67 ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐลดลง ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 107,657 คัน ลดลง 21.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“หาก งบฯ 67 ผ่านสภาฯ มีผลบังคับใช้ เบิกจ่ายได้ และรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วจะช่วยเพิ่มยอดขายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ช่วงนี้น้ำมันแพงก็ทำให้รถปิกอัพมียอดขายต่ำกว่ารถยนต์นั่ง” นายสุรพงษ์ กล่าว
ส่วนยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ก.พ.67 อยู่ที่ 88,720 คัน เพิ่มขึ้น 0.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกรถ PPV และรถ HEV แม้ยอดส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอลง แต่ตลาดส่งออกยังขยายตัวได้ดีจึงมั่นใจว่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ส่งผลลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-ก.พ.) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปรวม 175,436 คัน เพิ่มขึ้น 0.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการส่งออก 121,228.69 คัน
ส่วนการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนจำนวนมากคงไม่ได้เป็นการทำลายตลาดรถยนต์ในประเทศ เป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศเร็วขึ้น และเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันวางแผนให้มีความพร้อมที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปในภูมิภาค ส่วนยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงพบว่า
• ประเภท BEV อยู่ที่ 6,335 คัน ลดลง 15.94% จากเดือน ก.พ.66 เนื่องจากมีการเร่งจดทะเบียนเพื่อรับส่วนลดจากมาตรการสนับสนุนภาครัฐไปในเดือน ม.ค.67 และช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 22,278 คัน เพิ่มขึ้น 81.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ ณ สิ้นเดือน ก.พ.67 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV สะสม 154,020 คัน เพิ่มขึ้น 247.72% จากสิ้นเดือน ก.พ.66
• ประเภท HEV อยู่ที่ 11,991 คัน เพิ่มขึ้น 51.38% จากเดือน ก.พ.66 และช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 26,134 คัน เพิ่มขึ้น 67.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ ณ สิ้นเดือน ก.พ.67 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV สะสม 369,532 คัน เพิ่มขึ้น 34.28% จากสิ้นเดือน ก.พ.66
• ประเภท PHEV อยูที่ 894 คัน ลดลง 28.42% จากเดือน ก.พ.66 และช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 1,834 คัน ลดลง 17.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ ณ สิ้นเดือน ก.พ.67 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV สะสม 55,782 คัน เพิ่มขึ้น 25.08% จากสิ้นเดือน ก.พ.66.-511-สำนักข่าวไทย