กรุงเทพฯ 24 ก.ย. – ยอดผลิต จำหน่าย ส่งออก รถยนต์ของไทยลดฮวบทุกด้าน สถานการณ์น้องๆ “ต้มยำกุ้ง” หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงินหมื่นและอื่นๆ จะส่งผลยอดขายดีขึ้นไตรมาส 4/67
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มฯ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิต ยอดขาย และยอดส่งออก รถยนต์ เดือนสิงหาคม ลดลงทุกด้าน เห็นตัวเลขแล้วใจหาย ยอดลดลงต่ำกว่าช่วงวิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์น้อง ๆ ช่วงต้มยำกุ้ง
สำหรับยอดส่งออกรถยนต์ เดือน ส.ค.67 อยู่ที่ คัน 86,066 ลดลง 1.70% จากเดือน ส.ค.66 แต่เพิ่มขึ้น 3.04% จากเดือน ก.ค.67 ส่งออกรถกระบะลดลงมากถึง 14.07% จากปัญหาเรื่องพื้นที่ขนส่งในเรือไม่เพียงพอและล่าช้าจากสงครามอิสราเอลกับฮามาส และปัญหาสิ่งสกปรกในท่าเรือที่ติดในรถกระบะที่เตรียมขับขึ้นเรือ ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 82,901.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.71% จากเดือน ส.ค.66 ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 8 เดือนแรกปี 67 (ม.ค.-ส.ค.67) อยู่ที่ 688,583 คัน ลดลง 4.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 650,082.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ในเดือน ส.ค.67 อยู่ที่ 119,680 คัน ลดลง 20.56% จากเดือน ส.ค.66 ผลิตเพื่อจำหน่ายประเทศและผลิตเพื่อส่งออกลดลง 40.49% และ 6.62% ตามลำดับ จากการผลิตรถกระบะลดลง และลดลง 4.12% จากเดือนก.ค.67 ส่วนช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มียอดการผลิตรถยนต์รวม 1,005,749 คัน ลดลง 17.69%
ด้านยอดจำหน่ายในประเทศช่วงเดือน ส.ค.อยู่ที่ 45,190 คัน ลดลง 24.98% จากเดือน ส.ค.66 เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนสูงโดยหนี้เสีย (NPL) รถยนต์ ณ ไตรมาส2/67 สูงถึง 254,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7% ในขณะที่เศรษฐกิจในไตรมาสสองของปีนี้เติบโตในอัตราต่ำที่ 2.3% โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 399,611 คัน ลดลง 23.85%
“ที่ผ่านมาลูกค้าเดินเข้าโชว์รูมตลอด แต่ไม่ผ่านอนุมัติสินเชื่อคาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะดีขึ้นจากรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การแจกเงิน 10,000 บาท เป็นเงินสด การแก้ใขหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งเร่งใช้จ่ายงบประมาณ ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 0.50 และอาจจะลดอีกครั้งในปีนี้” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ คาดว่ายอดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้าในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 7.6 หมื่นคัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1 แสนคัน โดยในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มการผลิตในประเทศนั้นยังไม่มีความพร้อมเต็มที่
ประเภท BEV เดือน ส.ค.67 มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 8,804 คัน ลดลง 3% จากเดือน ส.ค.66 และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 69,047 คัน เพิ่มขึ้น 17.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันมีจดทะเบียนทั้งสิ้น 200,109 คัน
ประเภท HEV เดือน ส.ค.67 มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 11,000 คัน เพิ่มขึ้น 54.80% จากเดือน ส.ค.66 และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 94,794 คัน เพิ่มขึ้น 60.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันมีจดทะเบียนทั้งสิ้น 437,504 คัน
ประเภท PHEV เดือน ส.ค.67 มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 854 คัน ลดลง 32.70% จากเดือน ส.ค.66 และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 6,576 คัน ลดลง 22.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันมีจดทะเบียนทั้งสิ้น 60,428 คัน. -511- สำนักข่าวไทย