GDP เกษตรไทยปี 67 หดตัวจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาด แนวโน้ม GDP การเกษตรในปี 2567 จะอยู่ในช่วงร้อยละ -0.8 โดยลดลง 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในช่วงครึ่งปีแรกและปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลังที่ทำให้เกิดอุทกภัย มีเพียงสาขาปศุสัตว์และป่าไม้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น


นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 คาดว่า GDP จะอยู่ในช่วงร้อยละ -0.8 ซึ่งลดลง 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในช่วงครึ่งปีแรก และปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลังที่ทำให้เกิดอุทกภัย

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2567 (กรกฎาคม – กันยายน 2567) หดตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยการผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญและลานีญาดังกล่าว โดยไตรมาส 3 มีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เช่นเดียวกับสาขาประมง หดตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ ยังขยายตัวได้


สำหรับ GDP ในแต่ละสาขามีรายละเอียด ดังนี้
สาขาพืช หดตัวร้อยละ 0.4 จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนเมษายน 2567 ทำให้สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชบางส่วน ทำให้ผลผลิตพืชหลายชนิดลดลง แม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2567 แต่การเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต และมีโรคพืชและแมลงรบกวน สำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และเงาะ โดยข้าวนาปรัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ และภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชผักแทน มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลงตามเนื้อที่เก็บเกี่ยวที่ลดลง เนื่องจากเกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง ท่อนพันธุ์ดีหายากและมีราคาสูง ทำให้เกษตรกรบางรายปล่อยพื้นที่ให้ว่างหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น สับปะรด ยางพารา ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ยังพบการเกิดโรคใบด่างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ยางพารา ผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่ปลูกในภาคใต้และภาคเหนือยังคงมีการระบาดของโรคใบร่วง ประกอบกับเกษตรกรในภาคใต้และภาคกลางบางส่วนมีการตัดโค่นต้นยางอายุมากเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและปาล์มน้ำมัน รวมถึงทั่วประเทศมีฝนตกชุก ทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง ทุเรียน ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในช่วงออกดอก และในช่วงติดผลมีอากาศร้อนสลับฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแตกยอดอ่อนแทนการออกดอก ดอกบางส่วนแห้งฝ่อและหลุดร่วง ส่วนที่ติดผลแล้วบางส่วนเกิดการร่วงหล่นเสียหาย เงาะ ผลผลิตลดลงจากเนื้อที่ยืนต้นลดลงจากการโค่นต้นเงาะที่มีอายุมากและทรุดโทรม เพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดปัตตาเวีย ปาล์มน้ำมัน ลำไย และมังคุด โดย ข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูเพาะปลูกมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมาจึงเพียงพอต่อการเพาะปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้น ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 เติบโตได้ดี อีกทั้งเกษตรกรมีความรู้ในการใส่ปุ๋ย บำรุงรักษาและป้องกันโรคได้ดีขึ้น ผลผลิตต่อไร่จึงเพิ่มขึ้น สับปะรดปัตตาเวีย ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น และราคาสับปะรดอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2564 ราคาปาล์มอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา พื้นที่นาและพื้นที่รกร้าง ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 เป็นปีแรก ถึงแม้ว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งในปีที่ผ่านมาจะทำให้ต้นปาล์มบางส่วนไม่สมบูรณ์และออกทะลายลดลง แต่ผลผลิตโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาลำไยในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ทำให้มีการออกดอกและติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา และ มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นมังคุดมีความสมบูรณ์มากขึ้นจากการได้พักต้นสะสมอาหารในปีที่ผ่านมา และสภาพอากาศในภาคใต้มีความเหมาะสมต่อการติดผล ผลผลิตจึงทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

สาขาประมง หดตัวร้อยละ 3.8 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาสินค้าประมงลดลง ทำให้เกษตรกรชะลอการผลิต สินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และราคากุ้งตกต่ำ ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศชะลอตัว ทำให้เกษตรกรชะลอการปล่อยลูกกุ้ง นอกจากนี้ พื้นที่เลี้ยงกุ้งบางส่วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่บ่อเพาะเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร เกษตรกรจึงลดเนื้อที่เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายลดรอบการออกเรือจับสัตว์น้ำ ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารปลาที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง และลดปริมาณการปล่อยลูกปลา


สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.3 เนื่องจากในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกอากาศร้อนและแห้งแล้ง หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่ให้ว่าง ประกอบกับสภาวะลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืชและเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.9 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและมีการควบคุมเฝ้าระวังโรคได้ดี ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากฟาร์มสุกรมีมาตรฐานการผลิตที่ดี สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศและความต้องการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ผลผลิตลดลง เนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรงเพื่อให้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ น้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาอาหารข้น ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนมีการปรับลดจำนวนโคที่เลี้ยงหรือเลิกกิจการ

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากผลผลิต ไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง และรังนก เพิ่มขึ้น โดย ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษภายในประเทศ ประกอบกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (wood pellet) สำหรับโรงไฟฟ้า ครั่ง เพิ่มขึ้นตามการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอินเดียและญี่ปุ่น รังนก เพิ่มขึ้นจากความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ขณะที่ไม้ยางพารา ลดลงตามพื้นที่เป้าหมายการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่นของการยางแห่งประเทศไทย และ ถ่านไม้ ลดลง เนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ลดลง

ในไตรมาส 3 ที่ปริมาณฝนที่มากขึ้น ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชในภาพรวม ประกอบกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน การบริหารจัดการน้ำ การเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการวางแผน ตลอดจนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะการบริโภคและการส่งออก ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงหลายประการเช่น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิต รวมถึงปัจจัยภายนอก ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาภาคเกษตรทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว. -512-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยึดรถบอสดิไคอน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน ขณะที่พนักงานสอบสวนชุดเล็กประชุมสรุปรายงานผลการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เตรียมรายงานคณะทำงานชุดใหญ่พรุ่งนี้

ระเบิดสะพานโจร

“ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง

กสทช. จับมือตำรวจ สานต่อยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง อย่างอุกอาจ เอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ว.วชิรเมธี

พระพยอมชี้ ท่าน ว.วชิรเมธี นั่งบนหิมะ ไม่ผิดวินัยสงฆ์

เพจดังลงภาพท่าน ว.วชิรเมธี นั่งสมาธิบนหิมะที่ญี่ปุ่น ด้านพระพยอมชี้ ไม่ผิดวินัยสงฆ์ คิดว่าท่าน ว.วชิรเมธี คงอยากทดสอบความอดทน

ข่าวแนะนำ

ลุ้นระทึก ย้าย “พลายดอกแก้ว” สู่บ้านหลังใหม่

ลุ้นระทึก! เคลื่อนย้าย “พลายดอกแก้ว” ช้างกำพร้า ไปอยู่บ้านหลังใหม่ ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะจังหวะ “พลายดอกแก้ว” พังเหล็กกั้นรถออกมา ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง จึงนำช้างขึ้นรถได้

เร่งสางคดีอุ้มปล้นทรัพย์ 2 นักธุรกิจจีน 4 ล้านบาท

คดี 5 คนร้ายอุ้มปล้นทรัพย์ 2 นักธุรกิจชาวจีน รีดเงินกว่า 4 ล้านบาท ในซอยรัชดาฯ 24 เมื่อ 3 วันก่อน ตำรวจเชื่อมีการลวงให้เหยื่อเตรียมเงินสดไว้ ก่อนปฏิบัติการปล้นทรัพย์อุกอาจกลางกรุง พุ่งเป้าอดีตภรรยา ซึ่งรู้เห็นเกี่ยวข้องในธุรกิจที่ผู้เสียหายทำอยู่

ทองไทยไปลิ่วนิวไฮอีก ตามตลาดโลก-บาทอ่อนค่า

ราคาทองคำไทยในประเทศสร้างสถิติสูงสุดรอบใหม่ (All-Time High) ตามราคาทองคำตลาดโลกและบาทอ่อนค่า ทองรูปพรรณ ขายออกบาทละ 43,750 บาท