กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – กรมชลประทาน เตรียมผันน้ำเข้าทุ่งเจ้าพระยา 25 กันยายนนี้ หวังลดผลกระทบน้ำล้นตลิ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจากนี้ไปจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนตุลาคม โดยเดือนกันยายน ฝนจะตกชุกในภาคกลางตอนบน ส่วนเดือนตุลาคม ร่องมรสุมจะขยับลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ดังนั้น การวางแผนผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งลุ่มเจ้าพระยา 115,000 ไร่ จะเริ่มทำจากทุ่งเจ้าพระยาตอนกลางก่อน
นายทองเปลว กล่าวว่า น้ำเหนือจากนครสวรรค์จะมีปริมาณมาก ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน และใช้เวลาอีก 10 วัน น้ำท่าค้างทุ่งจะไหลมาสมทบ จึงควรเริ่มผันน้ำเข้าทุ่ง ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายนนี้ โดยจะนำเข้าระบบชลประทาน ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เช่น ฝั่งตะวันออกส่งเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก รับน้ำแล้วผันลงทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ส่งเข้าคลองชัยนาท-พระนครศรีอยุธยา แล้วผันสู่ทุ่งต่างๆ จากนั้นบรรจบกับคลองชัยนาท-ป่าสัก ส่วนฝั่งตะวันตกส่งเข้าแม่น้ำท่าจีนแล้วผันเข้าทุ่งโพธิ์พระยา ส่งเข้าแม่น้ำน้อยแล้วผันเข้าทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทั้ง 2 ฝั่งจะรับเข้าไปเต็มศักยภาพ คือ 740 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ปริมาณน้ำที่รับได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาหน่วงน้ำ 30 วัน จากนั้นจะทยอยระบายออก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเสีย
สำหรับการผันน้ำลงทุ่งจะทำให้ปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงมาก หากคิดจากปริมาณการระบายขณะนี้ระบายวันละ 1,435 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ตัดน้ำเข้าทุ่ง 740 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เท่ากับลดปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะลดผลกระทบต่อภาวะล้นตลิ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างนอกคันกั้นน้ำใน จ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ได้มาก.-สำนักข่าวไทย