กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – กรมชลประทาน จัดจราจรน้ำระหว่างเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะที่ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ลดการระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลง เป็นการลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าวว่า ได้ใช้เขื่อนเจ้าพระยาหน่วงน้ำจากตอนบนไว้ที่หน้าเขื่อนเพื่อควบคุมการระบายที่อัตรา 2,199 ลบ.ม./วินาทีไว้ให้นานที่สุด แม้ก่อนหน้านี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติให้ปรับเพิ่มการระบายได้ถึงอัตรา 2,500 ลบ.ม./วินาที
แผนการบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาที่วางไว้คือ จะรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน +17.40 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) โดยปัจจุบันอยู่ที่ +17.40 ม.รทก. น้ำจากตอนบนที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ทรงตัวและลดลงเล็กน้อยที่ 2,359 ลบ.ม./วินาที แต่จะมีน้ำจากแม่น้ำยมที่ท่วมจังหวัดสุโขทัยไหลลงมาเติมในระยะต่อไป หากส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ จะต้องปรับเพิ่มการระบายอีกครั้ง โดยจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที พร้อมกันนี้ได้เพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกขึ้นให้มากที่สุดซึ่งเป็นการแบ่งน้ำจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาออกไป
นายธเนศร์กล่าวว่า ได้จัดการจราจรน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ด้วยการลดการระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงอย่างต่อเนื่อง โดยทยอยปรับลดตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ปรับลดจาก 200 ลบ.ม./วินาทีเป็น 150 ลบ.ม./วินาที จากนั้นเช้าพรุ่งนี้จะปรับลดการระบายเป็น 100 ลบ.ม./วินาทีแล้วคงการระบายในอัตราดังกล่าวไว้
น้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี จะไหลผ่านจังหวัดสระบุรี ไปยังเขื่อนพระรามหกที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดพนัญเชิง อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วไหลไปสู่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และออกสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการ ดังนั้นการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จึงจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงไป
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบัน (7 ต.ค. 67) มีน้ำ 670 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 69% ของความจุ
สำหรับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเฉลี่ย 1,990 ลบ.ม. ยังน้อยกว่าความจุลำน้ำที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยาจะไม่ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน แต่พื้นที่ริมแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำจะได้รับผลกระทบในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง
ขณะนี้กรมชลประทานประสานกับกรุงเทพมหานครบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำ ที่ผ่านมาได้ใช้สถานีสูบน้ำของกรมชลประทานดึงน้ำที่ระบายจากกรุงเทพมหานคร แล้วเร่งระบายออกทะเลเพื่อพร่องน้ำให้คลองต่างๆ ของกรุงเทพมหานครให้มีศักยภาพรองรับน้ำจากฝนอาจตกลงมาในพื้นที่. 512 – สำนักข่าวไทย