รัฐสภา 25 ก.ย.- “พร้อมพงษ์” เดินหน้าร้อง ป.ป.ช. สอบสงสัย จนท.จ่อช่วย “พล.อ.ประวิตร” เซ็นชื่อ-สแกนบัตรมาประชุมแทน แฉลาประชุมกว่า 80% แต่รัฐเสียงบเดือนละกว่า 2.5 แสน จี้ควรลาออก
นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันเดินหน้าตรวจสอบการปฏิบัติ หน้าที่ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมาที่ตนจำนวนมาก จึงจะนำเรื่องไปยื่น ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันศุกร์ที่ 27 กันยายนนี้ เพราะมีการขาด-ลา-มาประชุม ของพลเอกประวิตร ที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงเจ้าหน้าที่น่าจะกระทำผิดกฎหมาย
นายพร้อมพงษ์กล่าวว่า จากตรวจสอบเรื่องการเข้าประชุมของพลเอกประวิตรไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าพลเอกประวิตรน่าจะขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร แล้วยังส่อจะคัดข้อบังคับของพรรคพลังประชารัฐ เพราะจากการตรวจสอบการขาด-ลาประชุมของพลเอกประวิตร ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ถึง 19 กันยายน 2567ปรากฏว่า มีการประชุม 95 ครั้ง แต่พลเอกประวิตร ซึ่งเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ขาดประชุมใช้ลักษณะน่าจะเป็นการลา 84 ครั้ง และเมื่อดูตั้งแต่ 3 กรกฎาคมปี 67 ถึง 19 กรกฎาคมปี 67 มีการประชุม 27 ครั้ง พลเอกประวิทย์มาประชุมเป็นศูนย์หรือ13 ธันวาคม 2566 ถึง 3 เมษายน 2567 มีการประชุม 33 ครั้งมาประชุม 4 ครั้งลาประชุม 20 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่อ้างว่าติดภารกิจ โดยการลาน่าจะเป็นเพียงฉากบังหน้า ทั้งที่ส.ส.มีหน้าที่ประชุมสภาสัปดาห์ละ 2 วันคือวันพุธและวันพฤหัสบดีที่เหลืออีก 5 วันไปลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เท่ากับเป็นการขาดแล้วใช้การลาประชุมบังหน้า ถือเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการกิจการสภา และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบ
นายพร้อมพงษ์ กล่าวด้วยว่าหนึ่งคนใช้เงินภาษีของประชาชน เป็นเงินเดือนและผู้เชี่ยวชาญรวมแล้ว 242,560 บาทไม่รวมค่าโดยสารค่าเครื่องบิน ค่ารถ ค่ารักษาพยาบาล จึงอยากถามว่าพลเอกประวิตรทำงานคุ้มกับภาษีที่ประชาชนต้องจ่ายหรือไม่ วันนี้ กรรมการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรต้องตอบคำถาม และการขาดประชุมน่าจะใช้การลาเป็นฉากบังหน้า จากการตรวจสอบวันที่ 8 สิงหาคมเปิดบ้านป่ารอยต่อให้คนเข้าอวยพรวันเกิดแล้วไม่มาประชุมสภา ทั้งที่การจัดงานวันเกิดสามารถจัดตอนกลางคืนได้หรือไม่หรือจัดอีกวันนึงได้หรือไม่ หรือในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ก็ลาประชุมโดยการไปประชุมกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้ยังลาประชุมไปฝังลูกนิมิตที่จังหวัดบุรีรัมย์ และยังลาไปเชียร์วอลเลย์บอลด้วย และตนยังสงสัยว่าในการลาน่าจะมีเจ้าหน้าที่กรอกแบบฟอร์ม และใช้กระบวนการที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะได้มีการ ตรวจสอบเชิงลึกเรียบร้อยแล้ว มีข้อมูลว่ามีคนนำสมุดลงชื่อไปให้พลเอกประวิตร เซ็นที่รถ ซึ่งในการลงชื่อนอกจากเซ็นชื่อแล้วต้องเอาบัตรไปแตะเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนจึงสงสัยว่าน่าจะมีการเอาบัตรไปแตะแทนกันหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ และเรื่องนี้เทียบเคียงกับกรณีที่กดบัตรแทนกัน โดยมี อดีตส.สถูกดำเนินคดีและติดคุกไปแล้ว ทั้งนี้จากการสอบถาม เพื่อนส.สด้วยกันยังไม่มีใครเห็นพลเอกประวิตรมา แตะบัตร แม้ แต่ นาย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานมิตรรัฐบาลก็ยังไม่เคยเห็นดังนั้นการกระทำดังกล่าวน่าจะขัดทั้งรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายเพราะผู้ช่วยเลขาหรือคนติดตามไปยืนยันตัวตนแทนไม่ได้ต้องไปยืนยันด้วยตัวเอง ดังนั้นในวันศุกร์นี้จะไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ว่าขัดกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่
“นี่คือสิ่งที่ผมมองว่าประเทศชาติและประชาชนเสียผลประโยชน์ จากการทำหน้าที่ของตัวแทนปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะกฎกติกาขององค์กรสภาผู้แทนราษฎร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณลาอย่างนี้ตั้งแต่ 3 กค.66 ถึง 19 กันยายน 67 . 95 ครั้ง ลา 84 ครั้ง ไม่มาประชุมคิดเป็น 88% อยากถามว่าสภาผู้แทนราษฎรลาประชุมได้ 100% ได้ด้วยหรือ วันนี้คณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ตอนนี้ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามีขอให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้เพราะวันนี้ถ้าพลเอกประวิตรทำได้ การลาที่เลขาสภาบอกว่ามีใบอนุญาตถูกต้อง ถ้าทำได้โดยและใช้ลักษณะฉ้อฉลแบบนี้และขาดประชุม ซึ่งมีกฎเกณฑ์มีระเบียบปฏิบัติ ถ้ามีแบบนี้เกินครึ่งแบบพลเอกประวิตร สภาก็ทำอะไรไม่ได้ ออกกฎหมายไม่ได้ ผลเสียหายก็ย่อมเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศชาติผมจึงต้องมาตรวจสอบ” นายพร้อมพงษ์กล่าว
นายพร้อมพงษ์ยืนยันว่า ตนมาทำหน้าที่ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีเมื่อมีผู้ร้องมาก็มีการตรวจสอบและขอยืนยันว่าไม่มีอคติ และไม่มีเรื่องโกรธแค้นกับพลเอกประวิตร และยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องใส่ร้ายป้ายสี แต่เป็นข้อเท็จจริง โดยเอกสารส่วนหนึ่งที่มีผู้ร้องร้องมายังตน หลายคนและสอดคล้องกับเอกสาร ที่ตนได้รับจากฝ่ายสภา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมอบให้ วันขาดวันลาวันมาประชุมของพลเอกประวิตรที่เป็นเอกสารราชการ จึงขอยืนยันว่า เราตรวจสอบทำตามหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 46 วงเล็บ 2 ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐมาถามตนว่ามีสิทธิ์อะไรขอยืนยันว่าเป็น สิทธิ์ของการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้พลเอกประวิตรลาออกจากการเป็นส.ส.แล้วเลื่อนให้คนรุ่นใหม่ ที่อยู่ในลำดับถัดไปเข้ามาทำงานแทน .-312 -สำนักข่าวไทย