ทำเนียบฯ 25 ก.ย. – รมว.คลัง เผยหารือ ผู้ว่าฯ ธปท.สัปดาห์หน้า ทั้งดอกเบี้ยนโยบาย-กรอบเงินเฟ้อ ชี้นโบายการเงิน-การคลังต้องสัมพันธ์กัน ดอกเบี้ยสูงไม่เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโต
นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกๆ คนที่ต้องการใช้เงินลงทุน รวมถึงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบกับการส่งออก แต่จะส่งผลดีกับผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องดูแลทั้งสองฝ่าย ซึ่งเงินบาทแข็งค่า สาเหตุสำคัญมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ย และยังส่งสัญญาณว่าจะลงต่ออีก 0.75% ภายในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั่วโลก และเงินจะไหลออกจากพันธบัตรสหรัฐมาที่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไทยเองก็เป็นประเทศเป้าหมาย ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ค่าเงินของไทยจะแข็งค่ามากกว่า ส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันลดลง และกระทบต่อภาคการส่งออกมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 0.15% ปี หลุดกรอบล่าง จากกรอบเงินเฟ้อ 1-3% ซึ่งการกำหนดกรอบเงินเฟ้อก็จะนำไปสู่การกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย จึงต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาดูว่าอัตราดอกเบี้ยควรเป็นอย่างไร
รัฐบาลใช้กรอบเงินงบประมาณเต็มที่ในช่วงนี้เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งระหว่างที่เศรษฐกิจยังไม่โต รัฐบาลก็ยังเก็บภาษีได้เท่าเดิม ซึ่งรัฐบาลกังวลหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้จะต้องสัมพันธ์กับนโยบายทางการเงิน ซึ่งสำคัญที่สุดก็คือดอกเบี้ยดอกเบี้ยนโยบาย ถ้ากำหนดไว้ในระดับสูงก็จะไม่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
“จึงอยากเชิญชวนมาทำนโยบายร่วมกัน มานั่งคุยกันมองเห็นข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้นโยบายทางการเงินสอดคล้องกับนโยบายทางการคลัง ขณะนี้ถึงเวลาที่จะคุยเรื่องกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งจะนำไปสู่ดอกเบี้ยนโยบาย นำไปสู่การสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดจะสอดคล้องกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยฟันฝ่าปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังมายาวนาน“ นายพิชัย กล่าว
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การพิจารณาถึงความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกิดจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ขณะนี้ไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังไม่มีแนวโน้มจะเข้าสู่กรอบ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ปัจจัยที่ 2 เรื่องค่าเงินบาท เมื่อเปรียบเทียบประเทศคู่ค้า เราอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยที่ 3 การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จำเป็นต้องเหยียบคันเร่ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายทางการคลังคือเหยียบคันเร่งวันนี้ใส่ไป 30,000 กว่าล้านบาท พรุ่งนี้อีก 40,000 กว่าล้านบาท และปัจจัยที่ 4 ทิศทางนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ ในโลกที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจเศรษฐกิจของประเทศไทยว่าเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งหลายประเทศทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายซึ่งนโยบายของไทยเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับนโยบายให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้า.-516-สำนักข่าวไทย