กรุงเทพฯ 6 ก.ย.- โฆษกศาลยุติธรรม เผยจะนำความคิดเห็นของผู้พิพากษาชั้นต้นเสนอต่อคณะกรรมการ ก.บ.ศ.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม
นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึง กรณีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเข้าชื่อกว่า 1000 คน นำเสนอข้อคิดเห็นให้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนสัดส่วนตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายข้าราชการตุลาการไปเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ใน สัดส่วน 4:4:4: คือ จากศาลฎีกา 4 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน และจากศาลชั้นต้น 4 คน แทนสัดส่วน 6:4:2 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ที่สำนักงานศาลยุติธรรม อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอ คณะรัฐมนตรี บรรจุเข้าวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ที่อยู่ระหว่างการจัดทำขึ้นขณะนี้เป็นในส่วนรายละเอียด ที่มาและการสรรหาตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการตุลาการ จำนวน 2 คน ที่ตามรัฐธรรมนูญใหม่ระบุให้ผู้พิพากษาคงคะแนนเลือกกันเอง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายข้าราชการตุลาการ แต่ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะนำข้อคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มานำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. ได้นำไปพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งก็ถือเป็นผู้มีคุณวุฒิ ความสามารถ และประสบการณ์ เพราะปัจจุบันต้องมีผู้พิพากษาใช้เวลาทำงานในศาลชั้นต้นถึง 18 ปี ถึงจะขึ้นเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้
โฆษกศาลยุติธรรม ยังเปิดเผยว่า การบริหารงานข้าราชการฝ่ายตุลาการนั้นเป็นไปตามสถานการณ์ของบ้านเมือง อย่างในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานช่วงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้มีการกำหนดสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายข้าราชการตุลาการ แบบ 4:4:4: ดังเช่นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนำเสนอ แต่มาภายหลังก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามแนวทางของประวัติศาสตร์ ความเป็นมาจนกระทั่งมาเป็นสัดส่วน 6:4:2 อย่างปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป สภาพและรูปแบบการบริหารงานก็จะปรับปรุงไปตามบุคลากรในแต่ละยุคสมัย แต่ยืนยันได้ว่าตุลาการศาลยุติธรรมจะยังคงความเป็นผู้มีเอกสิทธิ์ในดุลยพินิจของตน ในการตัดสินคดี โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายใดแน่นอน.-สำนักข่าวไทย