กรุงเทพ 4 ก.ย.- สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ขอต่อต้านการจ่ายส่วยทุกรูปแบบ พร้อมระบุยังมีป้ายสติกเกอร์ผู้มีอิทธิพลอยู่อีกราว 20 ป้าย ที่จ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่และยังไม่โดนตรวจสอบ
สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตเรียกรับส่วยรถบรรทุก ถึงจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ มีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุก รายละ 100,000 บาท เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้โดยไม่ถูกจับกุม ซึ่งกระทำการโดยชุดเฉพาะกิจ นําโดยนาย น. (นามสมมุติ) ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนัก ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิดในการบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรถบรรทุก และนาย อ. (นามสมมุติ) ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง เบื้องต้นทราบว่ามีชุดเฉพาะกิจดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 ชุด โดยตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียหายรวมมากกว่า 30 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 200 ล้านบาท และเงินส่วยหมุนเวียนแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กับ หน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาส่วยอย่างมีระบบซึ่งทางสหพันธ์ขอต่อต้านระบบส่วยทุกรูปแบบให้หมดไป แต่ต้องยอมรับว่า ระบบส่วยยังมีอยู่และทำมานานแล้ว เป็นทฤษฎีสมประโยชน์ ทั้งผู้ให้ผู้รับได้รับประโยชน์ทั้งคู่ดังนั้นจึงปราบปรามยาก แต่ก็ต้องทำซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ไม่ให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกิน เช่น รถปิกอัพต้องบรรทุกไม่เกิน 2.2 ตัน รถสี่ล้อต้องบรรทุกไม่เกิน 5.5 ตัน รถหกล้อต้องบรรทุกไม่เกิน 15 ตัน รถสิบล้อต้องบรรทุกไม่เกิน 25 ตัน รถพ่วงสิบแปดล้อต้องบรรทุกไม่เกิน 50 ตันบวก 500 กิโลกรัม เป็นต้น
ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยังระบุด้วยว่า แม้ว่าทางการจะเข้มงวดแต่ขณะนี้ยังมีป้ายสติ๊กเกอร์ของผู้มีอิทธิพลกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 20 ป้ายซึ่งเจ้าของป้ายสติ๊กเกอร์เหล่านี้จะจ่ายส่วยให้หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า การแก้ปัญหาส่วย ควรจะต้องเริ่มแก้ที่ผู้รับเหมารายใหญ่ของรัฐก่อนเพราะการบรรทุกน้ำหนักเกิน นอกจากจะทำให้ตัวยานพาหนะชำรุดทรุดโทรมแล้ว ถนนหนทางก็จะพังตามมา ต้องใช้งบประมาณภาษีของชาติซ่อมแซมถนนปีละหลายหมื่นล้าน รวมทั้งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาอีกด้วยซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ส่วนเรื่องคดีที่จับกุมไปเมื่อวานนี้ ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของตำรวจและหน่วยงานต้นสังกัดว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร . 513.-สำนักข่าวไทย